รัฐเคลียร์ปม วัดไม่รับเผาศพ 'โควิด'
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ระลอกที่ 3 ของประเทศไทย ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระดับ 2,000 คนต่อวัน มียอดสะสมเฉียดทะลุ 8 หมื่นคน นับตั้งแต่การระบาดในรอบแรก อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 182 ราย ยอดสะสม 276 ราย
จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาในการฌาปนกิจ กลายเป็นประเด็นดราม่าเมื่อหลายวัดปฏิเสธไม่รับศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ที่ต้องวิ่งวุ่นหาวัดเพื่อทำการฌาปนกิจให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเสียชีวิต ตามแนวทางการจัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
เหล่านี้กลายเป็นภาพสะเทือนใจอย่างยิ่ง
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หน่วยงานที่กำกับดูแลวัดทั่วประเทศ โดย นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการ พศ. ในฐานะโฆษก พศ. ออกมาชี้แจงว่า ที่มีกระแสข่าวว่ามีวัดปฏิเสธไม่ทำการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 นั้น พศ.ได้ประสานสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ในภูมิภาคต่างๆ ประสานวัดที่มีความพร้อม เผาศพผู้ที่เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 จะต้องเป็นวัดที่มีเตาเผาปลอดควันพิษ ที่มีความร้อนสูง 800-1,000 องศา เพื่อความปลอดภัย และจะต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดดูแลอย่างใกล้ชิด ญาติผู้เสียชีวิตบางรายต้องการฌาปนกิจที่วัดใกล้บ้าน ซึ่งไม่มีความพร้อม ทางวัดจึงต้องปฏิเสธ เพื่อความปลอดภัย
“พศ.ต้องขอความร่วมมือญาติผู้เสียชีวิต อย่าเลือกวัดในการทำพิธีฌาปนกิจผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อโควิด-19 เลย เพื่อความปลอดภัย ทาง พศ. เองได้แจ้ง พศจ.ทั่วประเทศ หากมีผู้ต้องการฌาปนกิจผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ประสานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน
“ขณะเดียวกันจะรวบรวมรายชื่อวัดที่มีเตาเผาไร้ควันพิษ และมีความพร้อมทั่วประเทศ เพื่อประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าแต่ละจังหวัด ประชาชนสามารถเข้าฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 ที่วัดใดได้บ้าง” โฆษก พศ.ชี้แจง
ขณะที่ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล พศ. ระบุว่า ได้สั่งการให้นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการ พศ. เร่งชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าเหตุใดวัดหลายแห่งไม่รับเผาศพ ส่วนการแก้ปัญหาในระยะนี้จะประชุมผ่านระบบซูม กับ พศ.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำการสำรวจวัดที่มีความพร้อมสำหรับเผาศพผู้ติดเชื้อ และจัดทำบัญชีรายชื่อสำหรับการประสานงานกับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเผาศพผู้ติดเชื้อ สร้างความมั่นใจแก่ญาติผู้เสียชีวิตว่ามีสถานที่สำหรับเผาศพอย่างแน่นอน
นายอนุชาย้ำด้วยว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิต ขอให้ญาติรีบแจ้งสาธารณสุขในพื้นที่ทันที เพื่อประสานมาที่ พศ.จังหวัด และประสานวัดที่มีความพร้อมสำหรับเผาศพผู้ติดเชื้อ ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไม่ปกติ ซึ่งต้องทำการเผาทันที และอย่าเลือกวัดเผาแต่ขอให้ดูวัดที่มีความพร้อม ปัญหาวัดปฏิเสธทำการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด นอกจากความไม่พร้อมของเตาเผาไร้ควันพิษแล้ว ยังมีเรื่องของความหวาดกลัว การแพร่เชื้อจากผู้ที่เสียชีวิตของทางวัดและชาวบ้านในละแวกพื้นที่วัดด้วย ทางภาครัฐจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจเสียใหม่
วัดอุดมมงคล หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นอีกวัดหนึ่งที่ยินดีจัดพิธีฌาปนกิจผู้ป่วยโควิด พระครูวิจิตรสรคุณ เจ้าอาวาสวัดอุดมมงคล มองว่า ทางวัดยินดีที่จะให้ความอนุเคราะห์จัดพิธีพิธีฌาปนกิจ เนื่องจากได้รับข้อมูลมาจากทางโรงพยาบาลเป็นอย่างดีแล้วว่า การจัดการศพของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 นั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดการบรรจุศพ และพ่นยาฆ่าเชื้อมาเป็นอย่างดีด้วยถุงซิปล็อกหลายชั้น อีกทั้งในขณะทำการเคลื่อนย้ายมายังได้มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อมาโดยตลอดในทุกขั้นตอนแบบซ้ำไปซ้ำมาตลอดเวลา
พระครูวิจิตรสรคุณกล่าวว่า เมื่อศพเคลื่อนย้ายมาถึงยังวัด เจ้าหน้าที่ได้นำขึ้นไปยังบนเชิงตะกอนบนเตาเผาในทันที โดยที่ไม่ได้มีการนำเอาศพเข้ามาตั้งไว้บนฌาปนสถานแต่อย่างใด อีกทั้งตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนย้ายนั้น ยังได้มีการฉีดพ่นยาควบคุมพื้นที่ไว้โดยตลอดจนถึงยังในเตาเผา จึงทำให้การเผาศพของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่เราคิด เนื่องจากศพที่ถูกนำมาเผานั้น ได้ถูกนำขึ้นเตาเผาในทันที จึงทำให้เชื้อที่อยู่ภายในถุงที่บรรจุมา พร้อมด้วยการควบคุมมาเป็นอย่างดีนั้น ถูกไฟเผาไปโดยที่ยังไม่มีโอกาสที่จะได้แพร่ออกไป และเชื้อโรคก็ได้ตายไปพร้อมกันหมดในกองไฟ โดยที่ไม่มีใครได้ไปสัมผัส
“จึงพิจารณามองดูแล้วว่าไม่ได้มีความเป็นอันตรายใดๆ ตามที่ได้สังเกตการณ์เห็น ทางวัดจึงสะดวกใจที่จะรับให้นำศพมาทำการฌาปนกิจยังที่วัดได้ อันนี้อยู่ที่การให้ความรู้ความเข้าใจ ถึงขั้นตอนของการประกอบพิธี และการควบคุมฉีดยาฆ่าเชื้อให้แก่ทางวัดต่างๆ ได้ทราบ และเกิดความเข้าใจ
“ส่วนเรื่องความกลัวต่อโรคนั้น เป็นเรื่องปกติที่บางวัดอาจจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจตรงนี้ หากมีญาติโยมในบริเวณวัดเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวนี้ จึงควรปรึกษากับทางสาธารณสุขหรือทางโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจแล้วความกลัวก็จะไม่มี จึงการันตีได้ว่าปลอดภัย ไม่อันตราย เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดการห่อบรรจุศพมาอย่างรัดกุมมากพอแล้ว” พระครูวิจิตรสรคุณกล่าว
พระครูวิจิตรสรคุณกล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนการสวดในการฌาปนกิจจะใช้บทสวดพระอภิธรรมหน้าไฟ เพื่อเป็นการระลึกมรณสติในเรื่องของความตาย ซึ่งเป็นนัยยะมาตั้งแต่เมื่อสมัยพุทธกาล ที่ได้เคยปฏิบัติเมื่อครั้งเกิดโรคระบาด แต่ในปัจจุบันนี้ทางการแพทย์ได้มีการทำการควบคุมโรคมาให้เราเป็นอย่างดีแล้ว เมื่อเรามีความรู้แล้ว เราก็จะไม่รังเกียจต่อโรคนี้เลย แต่กลับจะสงสาร อยากจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือ เพราะเป็นโรคที่ไม่มีใครอยากจะเป็น เป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยเหตุแห่งธรรมชาตินั้นเอง
เหล่านี้เป็นสิ่งทางภาครัฐจะต้องเร่งบริหารจัดการแก้ปัญหา รวมทั้งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน