รีเซต

ฝนตกหนัก! กอนช.ประกาศเตือนหลายจังหวัดเฝ้าระวังน้ำหลาก-น้ำท่วม 1-8 ก.ค.นี้

ฝนตกหนัก! กอนช.ประกาศเตือนหลายจังหวัดเฝ้าระวังน้ำหลาก-น้ำท่วม 1-8 ก.ค.นี้
TNN ช่อง16
30 มิถุนายน 2565 ( 19:36 )
234
ฝนตกหนัก! กอนช.ประกาศเตือนหลายจังหวัดเฝ้าระวังน้ำหลาก-น้ำท่วม 1-8 ก.ค.นี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ ฉบับที่ 18/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน วันนี้ (30 มิ.ย.65) โดยระบุว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 4 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 พายุโซนร้อน “ชบา”บริเวณทะเลจีนใต้คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2565 ซึ่งไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย 

และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน 

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก


กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง

ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 1-8 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง 

ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 

ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำแม่สาย จ.เชียงราย และลำน้ำสายหลักและสาขา ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และตาก


3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง 

และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณ ภาคเหนือ (ลำปาง น่าน และพะเยา) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เลย สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี) ภาคกลาง (กาญจนบุรี และราชบุรี) ภาคตะวันออก (ชลบุรี และตราด) ภาคใต้ (กระบี่)


ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์


ข้อมูลและภาพจาก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง