รีเซต

เชียงราย เร่งให้สัญชาติผู้เฒ่า โวยกรมการปกครองเลิกจ้างบุคลากร กระทบพิสูจน์สิทธิ 6 แสนคน

เชียงราย เร่งให้สัญชาติผู้เฒ่า โวยกรมการปกครองเลิกจ้างบุคลากร กระทบพิสูจน์สิทธิ 6 แสนคน
ข่าวสด
23 กันยายน 2564 ( 21:30 )
31
เชียงราย เร่งให้สัญชาติผู้เฒ่า โวยกรมการปกครองเลิกจ้างบุคลากร กระทบพิสูจน์สิทธิ 6 แสนคน

เชียงราย เร่งให้สัญชาติผู้เฒ่า เผยกรมการปกครอง เตรียมเลิกจ้างลูกจ้างเหมาบริการ โวยบุคลากรน้อย-ทำงานไม่ทัน อีก 40 ปีถึงแก้ปัญหา 6 แสนคนได้หมด

 

 

วันที่ 23 ก.ย.64 นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล เปิดเผยว่า มูลนิธิร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม 31 องค์กรได้ส่งจดหมาย ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมสำเนาถึงอธิบดีกรมการปกครอง กรณีมีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2564 สั่งปรับลดอัตราลูกจ้างเหมาบริการโครงการดำเนินการสัญชาติและสถานะบุคคล ซึ่งถ้ามีการปรับลดกรอบอัตราลูกจ้างฯ ไปอีก จะทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานเป็นอย่างยิ่ง จึงมีความกังวลถึงปัญหาที่จะตามมา อาทิ มีการแสวงหาผลประโยชน์

 

 

นายสันติพงษ์ กล่าวว่า ลูกจ้างเหล่านี้ถือว่าเป็นบุคคลด่านแรกที่มีความสำคัญมากในการรับคำร้อง ตรวจสอบเอกสารเพื่อเตรียมเสนอให้นายทะเบียน ซึ่งปัจจุบันทั้งประเทศมีอัตราลูกจ้างกลุ่มนี้อยู่ 217 คน แต่ในปีงบประมาณ 2565 ถูกปรับลดไป 68 ตำแหน่งเหลือเพียง 149 ตำแหน่ง ทำให้ส่งผลกระทบงานด้านสถานะบุคคลทั้งประเทศซึ่งปกติถือว่ามีอัตรากำลังน้อยอยู่แล้ว แต่ปีนี้กลับลดลงอีก ย่อมสงผลกระทบแน่นอน

 

 

“เมื่อคำร้องเข้ามาเต็มและกระบวนการต่างๆ มากขึ้น เช่น มีการฟ้องศาลปกครองมากขึ้น อาจมีกระบวนการเรียกร้องผลประโยชน์เพิ่มขึ้นเพราะเมื่อคนเข้าถึงระบบได้อย่างล่าช้าก็อาจมีช่องทางการเรียกรับเงิน”นายสันติพงษ์ กล่าว และว่าทางออกระยะแรกคือกรมการปกครองควรคงอัตรากำลังเหมือนเดินและเกลี่ยงบส่วนอื่นมาทดแทนเพื่อว่าจ้างลูกจ้างส่วนนี้ซึ่งต้องใช้ความรู้เฉพาะ และงานด้านสถานะภารกิจหลัก 1 ใน 10 ของกรมการปกครองที่ประกาศไว้ แต่ถูกลดอัตรากำลังซึ่งเป็นหัวใจในการทำงาน

 

 

“ในปีที่ผ่านมากรมการปกครองกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลไว้ 1.4 หมื่นคน แต่ทำได้ประมาณ 1.1 หมื่นคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนั้นแทนที่จะเพิ่มคนทำงาน กลับลดลงอีก ปัจจุบันประชาชนที่รอพิสูจน์สิทธิมีอยู่ประมาณ 6 แสนคนทั่วประเทศ ถ้าเอา 1.4 หมื่นมาหาร กว่าจะเสร็จกว่า 40 ปี ดังนั้นควรคงอัตรากำลังหรือเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ด้วย และอาจต้องทำตัวชี้วัดให้ชัดเจน” นายสันติพงษ์ กล่าว

 

 

ขณะที่จังหวัดเชียงราย นายณรงค์ โรจน์โสทร รองผู้ว่าราชการฯ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่าการที่กรมการปกครองปรับลดอัตราจ้างลูกจ้างกลุ่มนี้นั้น จังหวัดเชียงรายมีชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มต่างๆ ทั้งสิ้นกว่า 2 แสนคน และลูกจ้างเหมาบริการกลุ่มนี้ได้ปฎิบัติงานสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี

แม้จะเป็นการต่อสัญญาจ้างปีต่อปี แต่ได้รับการต่อสัญญาอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 13 ปี หากปรับลดอัตราจ้างจะทำให้งานสนับสนุนการพิจารณาสถานะชนกลุ่มน้อยประเภทต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง จึงขอความกรุณากรมการปกครองจัดจ้างลูกจ้างของจังหวัดเชียงรายอีก 1 ปี

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย มีการประชุมคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบความรู้ภาษาไทย แก่ผู้ยื่นคำขอถือสัญชาติไทยตามสามีของหญิงต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย และผู้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 3/2564

โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน โดยมีกรรมการเข้าร่วม 11 ราย อาทิ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด อัยการจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ซึ่งในที่ประชุมมีการพิจารณากรณีคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย (มาตรา10) กรณีผู้ที่ขออายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จำนวนรวม 50 ราย จาก อ.แม่สรวย และอ.แม่ฟ้าหลวง

ปลัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การแปลงสัญชาติมาตรา 10 ที่เข้ารับการสัมภาษณ์ในวันนี้เป็นผู้เฒ่า ซึ่งมีการปรับเกณฑ์ให้สามารถสอบสัมภาษณ์โดยใช้ภาษาถิ่นไทยได้ ตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันนี้มีทั้งภาษาอาข่าและไทลื้อ โดยให้นายอำเภอนำเสนอข้อมูลของแต่ละราย จะเป็นการสอบที่รวดเร็วขึ้น โดยให้กรรมการทดสอบความรู้ด้านภาษา การพิจารณาแยกเป็นรายบุคคล

ขณะที่นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่าผู้เฒ่ากลุ่มนี้มีเอกสารที่ทำไว้กับทางราชการ ตั้งแต่ พศ. 2534 และได้มาตั้งรกรากในประเทศไทยก่อนหน้านั้นแล้ว จึงอยู่ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วนานกว่า 30 ปีทุกราย และผู้เฒ่าชาวไทลื้อจาก อ.แม่สรวย อายุมากสุดถึง 92 ปี ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเมื่อปี 2537

ทั้งนี้บรรยากาศการสอบสัมภาษณ์เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากผู้เฒ่าชาวอาข่าทุกคนได้แต่งชุดประจำเผ่าซึ่งประดับด้วยเครื่องเงินงดงาม ทำให้ได้รับความสนใจจากข้าราชการและประชาชนที่เดินทางมายังศาลากลาง ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ มีการสอบถามชื่อและข้อมูลส่วนตัวและครอบครัว

นางหมี่เพ้อ เบียวเชกู่ อายุ 64 ปีชาวอาข่าบ้านป่าคาสุขใจ บนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง กล่าวก่อนเข้าสอบสัมภาษณ์ว่า รู้สึกกังวลเรื่องการสอบที่ศาลากลางจังหวัด และตื่นเต้นมากตั้งแต่เมื่อคืนจนนอนไม่หลับและกินข้าวไม่ได้ แต่เมื่อสอบแล้วก็รู้สึกมีความสุขมาก ทั้งชีวิตคือรอคอยโดยอยู่ประเทศไทยมากว่า 40 ปีแล้ว อยากเป็นคนไทยที่ถูกต้อง ได้ถือบัตรประชาชน วันนี้เป็นบันไดขั้นแรกที่จะทำให้ได้เป็นคนไทย ขอบคุณทุกฝ่ายที่เห็นใจ เห็นคุณค่าของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ที่คนทั่วไปไม่สนใจ

โดยหลังจากการสอบสัมภาษณ์ที่จังหวัดแล้ว จะมีการส่งรายชื่อไปยังกรมการปกครอง ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ ตามมาตรา 25 พรบ.สัญชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ประธาน หากมีมติเห็นชอบคำร้องขอแปลงสัญชาติของผู้เฒ่าแล้ว ขั้นตอนต่อไปกรมการปกครองจะต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุมัติและแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง