รีเซต

นายกฯ ไม่เห็นด้วย ‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ ต้องทบทวนหาแนวทางที่เหมาะสม

นายกฯ ไม่เห็นด้วย ‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ ต้องทบทวนหาแนวทางที่เหมาะสม
TNN ช่อง16
9 ธันวาคม 2566 ( 14:50 )
81

นายกฯ  ไม่เห็นด้วย ‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’  ทั่วประเทศ 2-16 บาท  ชี้ไม่ได้ปรับมานานมาก-ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน ให้กลับไปทบทวนหาแนวทางที่เหมาะสม


วันนี้ (9 ธ.ค. 66 ) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ถึงกรณี คณะกรรมการไตรภาคี มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท ว่า ค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้ขึ้นมานานมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน รัฐบาลพยายามทำหลายวิธี ที่จะให้ลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร และอีกหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทา ความทุกข์ของประชาชน รวมไปถึงการแก้ไขหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ รัฐบาลพยายามทำอยู่เพื่อลดค่าใช้จ่าย 


ขณะที่เรื่องของการเพิ่มรายได้ก็สำคัญ โดยประชาชนหลายสิบล้านคน ต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก บางจังหวัด ขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่ รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับ ให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น


นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเองเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนในไทย ไปเปิดตลาดค้าขายใหม่ในต่างประเทศ ที่ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาทางการค้า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่แต่ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ต้องขอวิงวอนและขออ้อนวอนว่า พี่น้องแรงงาน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลพยายามทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือ แต่การขึ้นรายได้ผู้ประกอบการต้องพยายามทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง แล้วนายจ้างไม่ได้พัฒนากิจการของตัวเอง ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันนายจ้างก็ได้ประโยชน์ จากการลดค่าไฟ ค่าน้ำมันและอีกหลายอย่าง ตามมาตรการของรัฐบาล


 วันนี้จะยอมให้แรงงานประชาชนคนไทย ต่ำติดดินแบบนี้ ในขณะที่ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย เช่น เกาหลี และสิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ เมื่อรัฐบาลพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ก็ควรที่จะทำไปพร้อม ๆ กัน ถ้าทำเพียงฝ่าย เดียวเป็นไปไม่ได้


ผู้สื่อข่าวถามว่าในเรื่องค่าแรงจะมีโอกาสทบทวนใหม่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องขอทบทวนใหม่ จะต้องไปพิจารณาดูถึงแนวทางความเหมาะสมเพราะเพิ่งทราบข่าวเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่การสั่งการ แต่เป็นการพูดคุยร่วมกัน เราต้องพูดถึงองค์รวมของเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีการเพิ่มรายได้เปิดตลาดที่มากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว ถึงเวลาต้องคืนให้กับคนที่เป็นกำลังสำคัญ ในภาคผลิตด้วยหรือเปล่า พอพ้นจากวันหยุดก็จะมีการเรียกคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกคนมีความกังวลหมด ขอให้คิดถึงใจเขาใจเรา


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากมีการปรับเพิ่มขึ้นจำนวนมากอาจจะมีปัญหาเรื่องของการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่มีหรอก อันนี้เป็นวาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้น จาก 300 เป็น 400 บาทไม่มีหรอก รัฐบาลยังมี มาตรการส่งเสริมด้านภาษี มีระบบสาธารณสุขที่ดี สถานศึกษาก็ดี โครงสร้างพื้นฐานและสนามบินก็ดี ท่าเรือน้ำลึกก็มี ที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศก็ได้เซ็น MOU กับหลายบริษัทใหญ่ๆ ทั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ถ้าผู้ประกอบการไม่ช่วยกันก็ไปลำบาก


สำหรับรัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ถึง 400 บาทตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องดูตามความเหมาะสม ในจังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง ต้องดูความเหมาะสม ขอย้ำว่าสิ่งต่างๆที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้ นายจ้างสามารถส่งสินค้าออกไปได้และยังอำนวยความสะดวก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ให้ผู้ประกอบการ รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ขอให้ผู้ใช้แรงงาน ดูการกระทำ ว่าตนเองมีความจริงใจขนาดไหนอย่างไร  การที่ตนเองไปพูดที่หอการค้าไทย ขอให้ฟังดูว่าเขาดีใจหรือไม่ที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรม รัฐบาลพยายามสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และเข้ามาอยู่ในประเทศไทยง่ายและปลอดภัยขึ้น ทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจ


ข้อมูลจาก : ทำเนียบรัฐบาล

ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง