จับตา! พบ "โอมิครอน BQ.1" ในไทยแล้ว 1 ราย แพร่เร็ว-หลบภูมิคุ้มกันเก่ง
ศูนย์จีโนมฯ เผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BQ.1 และ BQ.1.1" ล่าสุดไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 1 ราย
วันนี้( 18 ต.ค.65) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดยระบุว่า
"โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BQ.1 และ BQ.1.1”, "วัคซีนเข็มกระตุ้นเจเนอเรชัน2 เพื่อป้องกัน", และ “ยาแอนติบอดีสำเร็จรูปเจเนอเรชันสอง" เพื่อการรักษาปรับปรุง 18/10/2565 เวลา 8:50
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกมาเตือนถึงการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BQ.1” และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นรุ่นหลานของโอไมครอน BA.5 จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิดโลก “GISAID” พบโอมิครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้ว 1 ราย
นายแพทย์ “แอนโทนี เฟาชี” แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวของสหรัฐ กล่าวถึงสาเหตุที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกังวลใจเกี่ยวกับบรรดาโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ เช่น BQ.1 และ BQ.1.1 เนื่องจาก 2 เหตุผลสำคัญ คือ
1. โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 มีการเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัว (doubling time) ภายในอาทิตย์เดียวติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ซึ่งถือว่าสูงมาก (ภาพ2) และ
2. โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 ดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปตัวสำคัญที่เรามีใช้อยู่ เช่น เอวูเชลด์ (Evusheld) และ เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) ที่ใช้รักษาโควิด-19 (ภาพ3)
ปัจจุบันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ เช่น BQ.1 มีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามธรรมชาติหรือภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีการติดเชื้อโอไมครอน BA.5 จะมีภูมิต้านทานการติดเชื้อโอไมครอน BQ.1 ได้ดีกว่าเล็กน้อย (เนื่องจาก BQ.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5) เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอไมครอน BA.2ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอไมครอน BA.1, และผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาก่อนตามลำดับ ดังนั้นการใช้วัคซีนเจเนอเรชัน 2 (adaptive vaccine) ที่ใช้ส่วนหนามกับ BA.5 เป็นตัวกระตุ้นน่าจะยังสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ BQ.1 และ BQ.1.1 ในร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เนื่องจาก BQ.1 และ BQ.1.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5 จึงมีส่วนหนามคล้ายกัน
นอกจากนี้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ยังดื้อต่อยา“แอนติบอดีสำเร็จรูป”เจเนอเรชันแรกเป็นส่วนใหญ่ (ภาพ3) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยา“แอนติบอดี ค็อกเทล”เจเนอเรชันสอง สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่
“แอนติบอดี ค็อกเทล”เจนเนอเรชั่นสอง เช่น “SA55+SA58” สามารถเข้าจับและทำลายโอมิครอนได้ทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2, BA.4/BA.5 จนมาถึงสายพันธุ์ย่อยล่าสุด BQ.1, BQ.1.1, XBB (ภาพ3)
โอมิครอน BQ.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญคือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี ในสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อ BQ.1 ร้อยละ 5.7 ของโอไมครอนสายพันธุ์ต่างๆที่ระบาดอยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด และหากคิดรวม BQ.1.1 (กลายพันธุ์เพิ่มจาก BQ.1 อีกหนึ่งตำแหน่ง คือ R346T) จะมีผู้ติดเชื้อ BQ.1 และ BQ.1.1 รวมกันถึงร้อยละ 11.4 ซึ่งคาดว่าสายพันธุ์ย่อยทั้งสองจะมาแทนที่ BA.4.6 ซึ่งระบาดในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันคิดเป็นร้อยละ 12.2 แต่ขณะนี้ BA.4.6 มีปริมาณการเพิ่มจำนวนที่คงตัว ในขณะที่โอไมครอน BA.5 ในสหรัฐอเมริกาลดจำนวนลงเป็นลำดับ ขณะนี้เหลือเพียงร้อยละ 67.9 (ภาพ2)
BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.5.2 เกือบ 15% ต่อวัน ในขณะที่ BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 14% ต่อวัน บ่งชี้ว่า BQ.1 น่าจะเจริญเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่า ส่งผลให้แพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566
แม้โอไมครอน BQ.1 และ BQ.1.1 จะมีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า โอมิครอน BQ.1 และ BQ.1.1 ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงและมีจำนวนผู้เสียชีวิตแตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics
ภาพจาก รอยเตอร์