รีเซต

10 ล้อ บุกทำเนียบขอตรึงดีเซลวันนี้ 'บิ๊กตู่' พร้อมฟังข้อเสนอ แรงงานดับฝันค่าแรง 492 บาททั่ว ปท.

10 ล้อ บุกทำเนียบขอตรึงดีเซลวันนี้ 'บิ๊กตู่' พร้อมฟังข้อเสนอ แรงงานดับฝันค่าแรง 492 บาททั่ว ปท.
มติชน
27 เมษายน 2565 ( 07:23 )
63

10 ล้อ บุกทำเนียบขอตรึงดีเซลวันนี้ บิ๊กตู่ย้ำพร้อมรับฟังข้อเสนอ พลังงานแย้มปรับเพิ่มลิตรละ 2 บาท ก.แรงงานดับฝันค่าแรง 492 บาททั่ว ปท.

 

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เมษายนว่า มีหลายวาระเพื่อพิจารณาทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ ซึ่งได้ย้ำในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ การเสนอแผนงานโครงการขึ้นมา เพื่อขอนุมัติใช้งบประมาณต้องตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ครม.ได้รับทราบความก้าวหน้าเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ที่เป็นการต่อยอดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยอีอีซีไอถูกวางไว้เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมทั้งประเทศ

 

“ได้เห็นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศของเราในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เรื่องของเกษตรกรรมสมัยใหม่ โรงกลั่นชีวภาพ แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง การขนส่งสมัยใหม่ หุ่นยนต์ระบบอัจฉริยะ เทคโนโลยีการบินโดรนและอวกาศ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเรามีพื้นที่เตรียมไว้อยู่แล้วกว่า 3 พันไร่ สามารถเปิดใช้งานได้ภายในปีนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

พร้อมฟังข้อเสนอ ‘สิบล้อ’

ส่วนกรณี สมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะเดินทางมายื่นหนังสือขอให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท และทยอยปรับราคาแบบขั้นบันได พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พร้อมรับฟังข้อเสนอ ก็รู้อยู่ว่าปัญหามาจากอะไร ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดูแลมาระยะหนึ่งแล้ว และทุกคนทราบดีว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ไปหมดแล้ว แม้เมื่อได้กู้เงินมาเสริมก็หมดลงไปเช่นกัน เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องเข้าใจรัฐบาลกันบ้าง

“การปรับขึ้นราคาดีเซลประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนมากด้วย อีกทั้งจะพันไปถึงอย่างอื่น นำไปสู่เรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจกันว่า รัฐบาลจะดูแลได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร วันนี้เป็นวันเวลาที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันบ้างซึ่งรัฐบาลเองก็พร้อมที่จะดูแล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แย้มดีเซลจ่อขึ้น 2 บาท/ลิตร

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เบื้องต้น อาจจะขยับราคาดีเซลจาก 30 บาท เป็น 32 บาทต่อลิตร หลังจากนั้นจะทยอยขึ้นราคา ซึ่งตามมติ ครม.กำหนดส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร ประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่ง และกองทุนน้ำมันอุดหนุนครึ่งหนึ่ง

 

“ราคาดีเซลหากจะขึ้นวันนี้จะอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร คือ 10 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง ราคาเพดานใหม่จะอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร จะขึ้นทันทีไม่ได้หรอก ประชาชนเดือดร้อนแน่ ให้ปลัดพลังงานไปดูว่ากรอบที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ราคาเท่าไร อาจจะเป็น 32 บาทต่อลิตร ก็ได้ ค่อยๆ ขึ้นไป” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

 

เคาะสูตรขึ้นดีเซลสัปดาห์นี้

รายงานข่าวจากระทรวงพลังงานแจ้งว่า สำหรับความคืบหน้าแนวทางการปรับราคาดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ขณะนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) อยู่ระหว่างพิจารณาสูตรการปรับขึ้นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้หรือไม่เกินวันที่ 29 เมษายน ในการปรับขึ้นส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร แม้รัฐจะช่วยครึ่งหนึ่งและประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่งตามมติ ครม. แต่ในช่วงแรกรัฐอาจดูแลมากกว่า 50% โดยจะใช้สูตรขั้นบันได อาจขยับเป็น 32 บาทต่อลิตร หรือมากกว่านั้นก็ได้

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด ราคาน้ำดีเซลในตลาดโลกอยู่ที่ 145 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นราคาขายปลีกดีเซลในไทย 39 บาทต่อลิตร ขณะที่ภาษีสรรพสามิตดีเซลที่เก็บปัจจุบัน 3.20 บาทต่อลิตร รวมกันแล้วจะมากกว่า 42 บาทต่อลิตร ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ติดลบ 56,278 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 31,976 ล้านบาท

สหพันธ์ขนส่งบุกทำเนียบร้อง 3 ข้อ

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กล่าวว่า วันที่ 27 เมษายน เวลา 09.00 น. สหพันธ์จะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 30 เมษายนออกไปก่อน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน พร้อมยื่นข้อเสนอประกอบด้วย 1.ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้านขนส่งเหลือ 0.20 บาทต่อลิตรเท่ากับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน 2.นำไบโอดีเซลที่ใช้ผสมน้ำมันดีเซลออกจากระบบชั่วคราว จะลดราคาได้ 1.50-2 บาทต่อลิตร 3.ในการเทียบราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ ขอให้เลิกคิดค่าขนส่งรวมเข้าไปในต้นทุนด้วย 4.เสนอให้เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแทนนายสุพัฒนพงษ์ เพราะบริหารพลังงานล้มเหลว

 

ดับฝันค่าแรง 492 บาททั่ว ปท.

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ให้สัมภาษณ์กรณีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกันที่ 492 บาทว่า ได้ชี้แจงแล้วว่าหลักการพิจารณาเป็นไปตามที่คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ จะหารือเรื่องของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และขั้นตอนในการพิจารณาอยู่แล้ว โดยช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเก็บข้อมูลตัวเลขจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และคณะอนุกรรมการจากทุกจังหวัดจะต้องนำข้อสรูปส่งมาที่ส่วนกลาง จากนั้นส่วนกลางจะพยายามทำให้เสร็จไม่เกินเดือนกันยายน 2565

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ถึง 492 บาท ทั่วประเทศ นายบุญชอบกล่าวว่า เวลาทำจะต้องดู 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 ดูในสถิติเก่าๆ ว่าการขึ้นค่าแรงของคณะกรรมการไตรภาคี เคยขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นนั้นหรือไม่ 2.หากต้องการขึ้นแบบนั้น ต้องดูที่นโยบาย

 

“ยกตัวอย่างเมื่อปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำหนดให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาท แต่ว่าวันนี้ สิ่งแรกต้องเข้าใจก่อนว่าในแต่ละจังหวัดมีฐานของตัวเอง จังหวัดต่ำสุดคือ 313 บาท จังหวัดสูงสุดคือ 336 บาท ต่างกัน 23 บาท ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้มาเท่ากัน ถ้าพูดตรงๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตอนที่เราให้ไตรภาคีจังหวัดพิจารณา เขาต้องเอาจากฐานเดิมว่าล่าสุดคือเท่าไร พร้อมกับตัววัดต่างๆ มีสูตรคำนวณอยู่แล้ว ทุกอย่างอยู่ที่ตัวจังหวัดก่อน เราไม่สามารถชี้ได้” นายบุญชอบกล่าว

 

สมาพันธ์ ‘เอสเอ็มอี’ หนุนขึ้นค่าแรง

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ค่าแรงปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ และไม่ได้ปรับขึ้นคาแรงมานานแล้ว แต่จากสถานการณ์ค่าครองชีพสูง ต้นทุนการผลิตแพง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ อาจทยอยค่าแรงปรับเป็นขั้นบันได หากปรับขึ้นสูงสุดในคราวเดียวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคเอสเอ็มอี หรือภาคอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต การก่อสร้างอาจจะรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว

 

“ภาครัฐควรออกมาตรการคนละครึ่งให้กับแรงงานเป็นกลุ่มสำคัญ เพราะมาตรการคนละครึ่งที่เคยทำมาอาจมีการกระจายสิทธิไม่ถึงกลุ่มแรงงาน เนื่องจากการกำหนดสิทธิกวางขวางครอบคลุมทุกกลุ่ม ผู้คนที่มีรายได้สูงก็สามารถรับสิทธิด้วย อยากให้รัฐกำหนดเกณฑ์การรับสิทธิสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเป็นอันดับแรก อยากเสนอให้เป็นมาตราการคนละครึ่งสำหรับแรงงาน โดยกำหนดเกณฑ์ให้ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 15,000-20,000 บาท เป็นผู้ได้รับสิทธิเท่านั้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงกลุ่มแรงงานหรือผู้มีรายได้ต่ำจริงๆ” นายแสงชัยกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง