รีเซต

ไหล่ทางอย่าวิ่ง! กทพ.ตั้งกล้องทางด่วน 4 สาย จับปรับจริง เริ่ม 5 เม.ย.64

ไหล่ทางอย่าวิ่ง! กทพ.ตั้งกล้องทางด่วน 4 สาย จับปรับจริง เริ่ม 5 เม.ย.64
TNN ช่อง16
4 เมษายน 2564 ( 09:37 )
180
ไหล่ทางอย่าวิ่ง! กทพ.ตั้งกล้องทางด่วน 4 สาย จับปรับจริง เริ่ม 5 เม.ย.64

วันนี้ (4 เม.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่าเป็นความร่วมมือ ระหว่าง การทางพิเศษฯ กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินมาตรการความปลอดภัยบนทางพิเศษ ด้วยกล้องตรวจจับความเร็วและกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย หลังจากระบบงานเหตุการณ์บนทางพิเศษ (TFC) พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษ ในปี 2563 มีมากกว่า 800 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 440 รายและเสียชีวิต จำนวน 7 ราย โดยเกือบร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุมีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความเร็วสูง การเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน

ดังนั้น กทพ.จึงจัดทำแผนป้องกันอุบัติเหตุในทางพิเศษ ประจำปี 2563 -2565 ที่มุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้บนทางพิเศษโดย 2 มาตรการสำคัญได้แก่

1. การติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) ที่ทำงานควบคู่ไปกับกล้องตรวจจับความเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะดำเนินการติดตั้งให้ครอบคลุมทั่วทุกสายทางพิเศษ รวมทั้งสิ้น 17 จุด บนทางพิเศษ 4 สายทาง ซึ่งมีการติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จำนวน 2 เส้นทาง คือ ทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 4 จุด เเละทางพิเศษเฉลิมมหานครจำนวน 5 จุด อีก 2 เส้นทางที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 4 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกันยายน นี้ เเละทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 4 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2565

2. การติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) ติดตั้ง จำนวน 32 จุด บนทางพิเศษ 4 สายทาง ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 1 เส้นทาง คือทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 10 จุด ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ในระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 6 จุด ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 8 จุด และทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 8 จุด

ผู้ว่าการ กทพ. ระบุด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.นี้ กทพ. จะรวบรวมข้อมูลผู้กระทำผิด พร้อมไฟล์ภาพจัดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายในการจับปรับต่อไป ทั้งนี้ก่อนการส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีกระบวนการกลั่นกรองจากเจ้าหน้าที่ของ กทพ. โดยใช้ดุลพินิจก่อน หากเป็นช่วงที่การจราจรติดขัด โดยเฉพาะช่วงเช้า-เย็น หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนโบกให้เข้าใช้ไหล่ทางได้ กรณีนี้จะไม่ส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนข้อเสนอที่ให้กำหนดช่วงเวลาเปิดให้รถยนต์สามารถวิ่งไหล่ทางได้โดยไม่ถูกจับปรับนั้น ขอรับไปพิจารณาก่อน

ด้าน พ.ต.อ.ชูตระกูล ยศมาดี รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า การวิ่งบนไหล่ทางเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะอนุญาตให้เฉพาะรถฉุกเฉิน รถพยาบาล และรถดับเพลิงใช้เท่านั้น หรือในชั่วโมงเร่งด่วนหากมีเจ้าพนักงานจราจรเปิดช่องให้ใช้ไหล่ทางก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามบทลงโทษการวิ่งบนไหล่ทางไม่ได้มีการระบุชัด แต่ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง