จุรินทร์ ขอทุกฝ่าย ถอนฟืนจากกองไฟ ชงตั้งกก.หาทางออกวิกฤต เร่งแก้รธน.ทันที
“จุรินทร์” ขอทุกฝ่ายชักฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้ลุกลามหนุนเร่งแก้ รธน.โดยไม่มีเงื่อนไข แนะตั้งคณะกรรมการหาทางออกเป็นรูปธรรม
เมื่อเวลา 09.40 น. วันนี้ (26 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 โดยก่อนการอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น ที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อน ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563
ต่อมา เวลา 11.20 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยเขาทำกัน เพื่อจะได้ให้รัฐสภาเป็นเวทีในการหาทางออกให้กับประเทศ การเปิดประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่สร้างเวทีโจมตีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็น และเป็นเวทีในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริง เพื่อพิสูจน์ว่าเราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาได้ เพราะการใช้เวทีอื่นอาจก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นตลอดการพิจารณา 2 วันนี้คือ ต้องการเห็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริงใจ และไม่ซ้ำเติมสถานการณ์
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่เป็นปมแห่งความขัดแย้ง ต้องช่วยกันชักฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้ลุกลามออกโดยไม่จำเป็น และการแสวงหาทางออกที่เป็นรูปธรรมในสถานการณ์ขณะนี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ทันทีที่สามารถทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจนสังคมเข้าใจว่าเป็นการยื้อเวลา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติเพิ่มเติมก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 จนสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องการยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตนขอเสนอให้วิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา หาคำตอบร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจะพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุในวาระไปก่อน หรือรอร่างของไอลอว์ที่ได้ชื่อว่าร่างของประชาชน
อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุวาระไปก่อนอาจถูกกล่าวหาได้ว่าต้องการทิ้งร่างของประชาชนหรือไม่ แต่ถ้ารอร่างของไอลอว์บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมก่อน ก็ต้องรออย่างน้อยหลังวันที่12 พ.ย. เพราะต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งอาจถูกครหาว่ารอเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่วิป 3 ฝ่ายควรหาทางร่วมกัน เพื่อทำให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น
“การพิจารณาวันนี้ควรมีข้อยุติและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของประเทศร่วมกัน อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อคือ 1.องค์ประกอบนั้นต้องมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนของรัฐบาล ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น 2.ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ เน้นรูปแบบการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อาจต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าวเพื่อมุ่งหาคำตอบและทางออกให้กับประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และ3.ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากทำได้ อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นแสงสว่างแห่งความหวังถูกจุดขึ้นตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประบอบประชาธิปไตยของเรา”นายจุรินทร์ กล่าว