กรมวิทย์ฯ แจงเหตุไม่ใช้ชุดตรวจเลือดปูพรมหาคนติดเชื้อโควิด-19
กรมวิทย์ฯ แจงเหตุไม่ใช้ชุดตรวจเลือดปูพรมหาคนติดเชื้อโควิด-19 เล็งใช้วิธี Pool Simple แทน
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในกลุ่มแรงงานเมียนมา ว่า ขณะนี้ยังคงใช้วิธีการตรวจเชิงรุก หรือ Active Case Finding ด้วยวิธี RT-PCR เก็บเชื้อในโพรงจมูกและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่เป็นมาตรฐานการตรวจ โดยแนวทางต่อไปอาจจะมีการใช้วิธีการตรวจที่เรียกว่า Pool Simple ที่เป็นการนำตัวอย่างเชื้อจากหลายตัวอย่างนำมารวมกันและใช้ชุดตรวจเดียว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หากพบว่ากลุ่มใดมีผลเป็นบวก จึงไปตรวจรายบุคคลในกลุ่มนั้นๆ ซึ่งกรณีที่ความหนาแน่นไม่มากก็จะทำให้มีความประหยัดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมีประมาณ 5-6 แห่ง ที่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้ อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาล (รพ.) พระปกเกล้า, รพ.สระแก้ว เป็นต้น
“การตรวจ Pool Simple ไม่ใช่ที่ไหนก็ตรวจได้เพื่อตรวจสอบว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรากำลังหาว่ามีไหนที่สนใจจะทำ เพื่อกรมวิทย์ฯ จะเข้าไปเทรนให้ ทดสอบความชำนาญ หากผ่านก็จะใช้วิธีนี้ออกผลได้ตามปกติ แต่แม้ว่าการตรวจด้วย Pool Simple อาจจะมีเพียง 5-6 แห่ง แต่สำหรับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน ในแล็บของประเทศไทยมีมากกว่า 240 แห่ง” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ใช้ชุดตรวจเร็วหรือการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้) มาใช้ตรวจในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและกลุ่มเสี่ยง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เมื่อผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าร่างกายแล้วกว่าจะแอนติบอดี้จะขึ้นภูมิคุ้มกัน จะต้องใช้เวลา ดังนั้น หากมีการตรวจด้วยแอนติบอดี้ จะทำให้ผู้ที่มาตรวจและให้ผลเป็นลบ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการติดเชื้อ หรือจริงๆ ยังอยู่ในช่วงที่ภูมิยังไม่ขึ้น
“เพียงแต่ว่า ขณะนี้มีการนำวิธีดังกล่าวมาตรวจเพื่อประกอบคำอธิบายในผู้ที่มีผลการตรวจ RT-PCR ให้ผลบวก เพื่อหาว่าผู้ติดเชื้อมีการติดเชื้อมานานแค่ไหนแล้ว หรือเพิ่งรับเชื้อมา เพื่อให้เราสามารถดำเนินการบางอย่างได้ต่อไป ยืนยันว่าตอนนี้ เรายังตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน และนำการตรวจหาภูมิคุ้มกันมาช่วยอธิบาย ไม่ได้เอามาแทนที่การตรวจด้วยห้องแล็บ เพราะการตรวจด้วยภูมิคุ้มกัน ในบางรายอาจจะใช้เวลานาน” นพ.ศุภกิจ กล่าว