รีเซต

ชาวสวนยางเฮ ประกันรายได้งวด4 โอน 6.8 พันล้านบาทแล้ว

ชาวสวนยางเฮ ประกันรายได้งวด4 โอน 6.8 พันล้านบาทแล้ว
มติชน
4 มีนาคม 2564 ( 12:21 )
46

แจ้งชาวสวนยางทั่วทั้งประเทศทราบ! โอนให้เกษตรกร 1.34 ล้านรายสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นงบประมาณ 6,853.91 ล้านบาท

 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ติดตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกร การช่วยเหลือเกษตรกรทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริมว่า ในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางนั้นนายจุรินทร์ให้ความห่วงใยเรื่องนี้ จึงให้ติดตามนโยบายและแจ้งให้เกษตรกรชาวสวนยางทราบว่า สำหรับการประกันรายได้ยางพาราปี 2 งวดที่ 4 เคาะราคากลางอ้างอิงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ได้มีการโอนเงินแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะนี้ได้รับแจ้งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ว่าสามารถโอนเงินให้เกษตรกรสำเร็จเรียบร้อยแล้ว 1.34 ล้านราย เป็นเงินงบประมาณ 6,853.91 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่ 1.83 ล้านราย วงเงินงบประมาณ 9,717.99 ล้านบาท งบประมาณยังคงเหลือ 2,864.08 ล้านบาท โดยการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งข้อมูลมาเดือนละครั้งถ้าหากราคายางต่ำลงมากเงินที่เหลือก็อาจไม่พอต้องขอเพิ่มแต่ถ้าราคายางสูงขึ้นงบที่เหลือนี้ยังพอใช้อยู่

 

นายจุรินทร์ให้ติดตามนโยบายและรายงานความคืบหน้าการดูแลเกษตรกรเพราะงวดนี้เกษตรกรได้รับเงินส่วนต่าง เนื่องจากคณะกรรมการเกณฑ์แถลงราคากลางอ้างอิงการขายตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เคาะจ่ายเงินงวดที่ 4 นี้ จากการคำนวณราคากลางอ้างอิงในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ดังนี้คือ

 

1)ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคายางที่ประกันรายได้ 60.00 บาทต่อกิโลกรัม งวดนี้ราคากลางอ้างอิงการขาย 54.93 บาทต่อกิโลกรัม จะได้รับชดเชย 5.07 บาทต่อกิโลกรัม

2) น้ำยางสด (DRC 100%) ราคายางที่ประกันรายได้ 57.00 บาทต่อกิโลกรัม งวดนี้ราคากลางอ้างอิงการขาย 46.99 บาทต่อกิโลกรัม จะได้รับชดเชย 10.01 บาทต่อกิโลกรัม

3) ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคายางที่ประกันรายได้ 23.00 บาทต่อกิโลกรัม ราคากลางอ้างอิงการขาย 20.54 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะได้รับชดเชย 2.46 บาทต่อกิโลกรัม จึงขอแจ้งเกษตรกรชาวสวนยางให้ทราบทั่วกันและสามารถตรวจสอบบัญชีของตนได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.

 

อย่างไรก็ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางนั้นยังมีมาตรการคู่ขนานอีก 8 โครงการเป็นโครงการจากรัฐบาลเพื่อยกระดับราคา คือ

 

1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์

2.การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวม

3.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพ

4.โครงการสต๊อกสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือสต๊อก 51,000 ตัน

5. การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ

6. สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง)

7. การสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ (20,000 ล้านบาท)

8. การควบคุมปริมาณการผลิต เป้าหมาย 400,000 ไร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง