รีเซต

ทีมวิจัยมอ. สงขลา มาแล้ว! พัฒนา กล่องฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี ใช้ยั้งการแพร่เชื้อบนธนบัตรได้

ทีมวิจัยมอ. สงขลา มาแล้ว! พัฒนา กล่องฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี ใช้ยั้งการแพร่เชื้อบนธนบัตรได้
มติชน
4 เมษายน 2563 ( 14:03 )
351
1
ทีมวิจัยมอ. สงขลา มาแล้ว! พัฒนา กล่องฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี ใช้ยั้งการแพร่เชื้อบนธนบัตรได้

ทีมวิจัย มอ.สงขลา พัฒนากล่องฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 ใช้กระบวนการผ่านแสงยูวี ที่เป็น UVC เพื่อฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่สังคมกำลังกังวลว่าจะมีการแพร่กระจายบนธนบัตรที่เปลี่ยนมือไปมา ที่ใช้ต้นทุนไม่แพง

วันที่ 4 เม.ย.63 ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) เปิดเผยว่า มอ.ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ใช้ศักยภาพทางวิชาการจากทุกสาขาที่มีอยู่ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้มีประสิทธิภาพที่สุด จากการปฏิบัติงานของคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในช่วง 2 เดือน

ผศ.ดร.จุมพลเปิดเผยว่าจากความกังวลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ ที่ให้ความกังวลว่า เชื้อโรคสามารถแพร่กระจ่ายผ่านธนบัตร ซึ่งมีการใช้เปลี่ยนมือกันตลอดเวลา มอ. จึงได้ประสานงานกับคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ไม่ยุ่งยาก ลงทุนต่ำ สามารถทำใช้เองในครอบครัว แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการสัมผัสกับบางส่วนในขบวนการฆ่าเชื้อเท่านั้น

“ได้คิดค้นกระบวนการฆ่าเชื้อโรคในธนบัตร โดยใช้กล่องรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสี UV ในรูปแบบของ UVC และด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ คือหลอดรังสี UV สำเร็จรูป หาซื้อได้ตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งมีหลายขนาด”

ผศ.ดร.จุมพล เปิดเผยว่ากล่องที่นำมาใช้จะเป็นกล่องกระดาษทั่วไปก็ได้ โดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าจะมีการใช้ฟิวส์ป้องกันอันตราย หากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และใส่แผนฟลอยด์โลหะ เพื่อเป็นตัวสะท้อนรังสียูวีให้กระจายทั่วถึง มีระบบนิรภัย คือ แสงจะส่องได้ต่อเมื่อเปิดกล่องเท่านั้น มีช่องแสงเล็กน้อยเพื่อให้เห็นว่าหลอดไฟทำงาน โดยแสงยูวีจากหลอดยูวีซีมีการใช้กันในเครื่องกรองน้ำ สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ร้อยละ 95 แต่จะเกิดอันตรายเมื่อสัมผัสกับร่างกายและสายตา จึงออกแบบอุปกรณ์โดยทำเป็นกล่อง เมื่อจะใช้ให้ใส่ธนบัตรแล้วปิดฝา ใช้เวลาฆ่าเชื้อ 15 นาที

“สามารถดัดแปลงเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในหน้ากากที่ใช้แล้ว โดยใช้หลอดยูวี 2 หลอด เพื่อสามารถฆ่าเชื้อได้ทั้ง 2 ด้าน และปัจจุบันสำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ กำลังดัดแปลงเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในหนังสือที่มีการยืมคืนตลอดเวลา โดยจัดทำเป็นระบบสายพานผ่านแสงยูวี”ผศ.ดร.จุมพลกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง