รีเซต

สมาคมชาวนาขอรัฐบาล ช่วยตรึงดีเซลไว้ที่ 25 บาท/ลิตร อุดหนุนปุ๋ยกระสอบละ 200-300 บาท

สมาคมชาวนาขอรัฐบาล ช่วยตรึงดีเซลไว้ที่ 25 บาท/ลิตร อุดหนุนปุ๋ยกระสอบละ 200-300 บาท
มติชน
25 เมษายน 2565 ( 14:36 )
77

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวยังดี โดยราคาซื้อจากหน้าโรงสีส่งต่อให้พ่อค้าคนกลางอยู่ที่ตันละ 8,000-9,000 บาท คาดว่าการส่งออกข้าวครึ่งปีหลัง 2565 ดีขึ้น จากภาคการส่งออกที่ยังดำเนินการได้ต่อเนื่อง และคาดว่าหากต้นทุนการผลิตยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาข้าวก็ต้องแพงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออก เนื่องจากตลาดหลักยังมีความต้องการซื้อข้าวอยู่เป็นจำนวนมาก ราคาข้าวก็ต้องปรับสูงขึ้นตามกลไกราคาในตลาด อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกดี แต่ชาวนายังได้รับผลกระทบมากจากภาวะต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงต่อเนื่อง รวมถึงยังมีหนี้งอกออกมาจากโครงการพักชำระหนี้ของรัฐ เพราะดอกเบี้ยไม่ได้พักด้วย เข้ามาซ้ำเติมจนเกิดเป็นหนี้สะสม

 

โครงการพักชำระหนี้ให้ชาวนาที่รัฐบาลทำไม่ได้ช่วยบรรเทาให้ชาวนาลดหนี้ได้เท่าที่ควร เนื่องจากรัฐบาลมีการพักหนี้ให้แต่ยังเก็บดอกเบี้ยเพิ่มทุกเดือน ปัญหาดังกล่าว สมาคมชาวนาจึงได้มีการพูดคุยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการพักชำระหนี้ก็ควรจะพักชำระดอกเบี้ยให้ด้วย เพื่อลดการเพิ่มภาระและยอดหนี้ให้กับชาวนา

 

“อีกทั้งปัญหาราคาสินค้าแพงจากต้นทุนการผลิตสูงอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันดีเซลให้คงอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร ให้ชาวนาไม่เกิน 200 ลิตร/ครอบครัว ส่วนเรื่องราคาปุ๋ย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่ต้องนำเข้าปุ๋ย อยากให้รัฐช่วยดูราคาไม่ให้สูงจนเกินไป แต่ถ้าราคาปุ๋ยยังสูงอยากให้รัฐช่วยซื้อปุ๋ยสูตรจากราคาที่ชาวนาต้องซื้อราคาเต็ม เช่น กระสอบละ 1,200-1,300 บาท รัฐช่วยอุดหนุนกระสอบละ 200-300 บาท ชาวนาจ่ายเอง 1,000 บาท เป็นต้น” นายปราโมทย์กล่าว

 

นายปราโมทย์กล่าวต่อว่า การปลูกข้าวฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนเมษายนนี้ อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตแพง สาเหตุจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นตลาดหลักการส่งออกปุ๋ย ส่งผลให้ปุ๋ยสูตรนำเข้าซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตข้าวมีราคาสูงกว่าเดิม ทั้งนี้ สมาคมฯได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการนำปุ๋ยอินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ชีวภาพมาใช้แทนปุ๋ยสูตร ปุ๋ยยูเรียที่มีราคาแพง โดยปุ๋ยอินทรีย์ สารจุลินทรีย์ หรือสารชีวภาพ สามารถใช้ทดแทนได้ แต่ผลผลิตที่ได้อาจน้อยจากต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ข้าวที่ได้จะมีคุณภาพเพราะปราศจากการฉีดพ่นของสารเคมี

 

“ขณะนี้ได้มีการทดลองการนำสารอินทรีย์มาใช้ปลูกข้าวจาก 80 ไร่ ได้ข้าว 75 ตัน ได้คำนวณต้นทุนการผลิตจากการทดลองในราคา 2,250 บาท ลดลงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ใช้ปุ๋ยสูตร 4,000 บาท อย่างไรก็ตาม ชาวนาสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตฤดูกาลใหม่ได้จากการใช้ปุ๋ยหลากหลาย และการสต๊อกปุ๋ยเดิมยังคงมีอยู่” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยระบุ

 

นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยกล่าวว่า ส่วนเรื่องอาหารสัตว์แพง สมาคมได้หารือกระทรวงพาณิชย์โดยเสนอให้นำข้าวไทย เช่น ปลายข้าว ข้าวกล้อง มาใช้เป็นอาหารสัตว์แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งข้าวโพด ข้าวบาร์เล่ย์ที่มีราคาแพง ช่วยบรรเทาภาระการใช้จ่ายของผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ และยังเป็นช่องทางช่วยเหลือชาวนาเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

นายปราโมทย์กล่าวว่ โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือทั้งสองด้านในคราวเดียวกัน โดยมีผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์เริ่มติดต่อขอซื้อข้าวไปทำเป็นอาหารสัตว์บ้างแล้ว นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางพัฒนาคุณภาพข้าวต่อกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแท้ เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 จากที่เมล็ดข้าวเริ่มกลายพันธุ์ เป็นการสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคจากต่างประเทศในการสั่งซื้อข้าวไทยต่อเนื่อง รวมถึงได้ประสานกับสมาคมการส่งออกข้าวเพื่อดูทิศทางว่าต่างประเทศนิยมบริโภคข้าวชนิดใด เพื่อนำเรื่องมาพิจารณาการปลูกเพื่อลดการปลูกข้าวคละพันธุ์กันในหลายพื้นที่ ซึ่งจะใช้วิธีการแบ่งโซนการผลิตข้าวในแต่ละภูมิภาคเพื่อลดการปลูกข้าว โดยจะดูภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์ เช่น ภาคเหนือคือข้าวเหนียว ภาคอีสานคือข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ กข 79 และ กข 87 เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง