รีเซต

ปภ. แนะ 5 เทคนิค ขับขี่ปลอดภัย เมื่อขับผ่านเส้นทางหมอก-ควันปกคลุม

ปภ. แนะ 5 เทคนิค  ขับขี่ปลอดภัย เมื่อขับผ่านเส้นทางหมอก-ควันปกคลุม
TNN ช่อง16
11 ธันวาคม 2567 ( 14:29 )
16

ถนนที่หมอกลงจัดหรือควันปกคลุม มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าปกติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะนำเทคนิค 5 ข้อ ขับขี่ปลอดภัย ดังนี้


1. เปิดไฟหน้ารถและไฟตัดหมอกในขณะขับขี่ เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

2. ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของผู้ร่วมใช้เส้นทางจนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

3. ใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับการมองเห็นเส้นทาง เว้นระยะห่างจากคันหน้าให้มากขึ้น และไม่เปลี่ยนช่องทางหรือแซงแบบกระทันหัน

4. เมื่อขับผ่านทางร่วมหรือทางแยก ควรลดความเร็วลงและลดกระจกลง จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนขึ้น

5. หากเส้นทางมีหมอกควันปกคลุมหนาจัดจนมองไม่เห็นก็ไม่ควรไปต่อ ควรจอดรถบริเวณที่ปลอดภัย รอให้ทัศนวิสัยดีขึ้นจึงค่อยเดินทางต่อ



นอกเหนือจากทัศนวิสัยเส้นทางแล้ว พฤติกรรมผู้ขับขี่ก็มีส่วนสำคัญต่อการเกิดอุบัติเหตุ มีข้อแนะนำ 8 พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรเลี่ยงขณะขับรถ ได้แก่


1. ดื่มแล้วขับ ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง โดยเฉพาะความสามารถในการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย

2. ขับรถเร็ว นอกจากทำให้การมองเห็นเส้นทางลดลงและไม่สามารถควบคุมรถเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้แล้ว หากเกิดอุบัติเหตุแรงปะทะจะเพิ่มขึ้นตามความเร็วเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้

3. แซงปาดหน้าในระยะกระชั้นชิด เปลี่ยนเลนในระยะไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนรถคันอื่นได้

4. ฝ่าสัญญาณไฟเหลือง-ไฟแดง อาจเกิดการเฉี่ยวชนหรือชนประสานงากับรถที่ขับมาจากช่องทางอื่นได้


 


5. คุย หรือ เล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ เพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ 2- 4 เท่า 

6. การไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยว เพื่อบอกเพื่อนร่วมทาง เป็นสาเหตุของการชนท้ายบ่อยครั้ง ซึ่งควรเปิดไฟเลี้ยวก่อน 30 เมตร เพื่อความปลอดภัย

7. เปิดไฟสูง เสี่ยงรบกวนการมองเห็นของรถคันอื่นเกิดอุบัติเหตุ หากใช้ควรอยู่ในสถานการณ์จำเป็น เช่น ฝนตกหนักหรือขับรถในที่มืด 

8. กิจกรรมที่ทำให้เสียสมาธิการขับขี่ เช่น กินอาหารขณะขับรถ ทำให้ใช้มือข้างเดียวจับพวงมาลัย / การแต่งหน้า การค้นหาหรือหยิบสิ่ง ที่อาจทำให้ละสายตาจากเส้นทาง หรือเผลอปล่อยเท้าจากแป้นเบรก หรือเหยียบคันเร่งได้ 



ข้อมูล : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN


ข่าวที่เกี่ยวข้อง