ไฟต์ ทางการเมือง คณะกรรมการ สมานฉันท์ ข้อเสนอ ยากปฏิเสธ
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
ไฟต์ ทางการเมือง - ทำไมการขับเคลื่อน “คณะกรรมการสมานฉันท์” จึงได้รับความสนใจมากขึ้นๆ
ทั้งๆ ที่ได้รับการปฏิเสธจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีรวมไทย ตั้งแต่แรกมีการเสนอ
เช่นเดียวกับเสียงอันมาจาก “คณะราษฎร 2563”
แต่เมื่อมีการเปิดเผยชื่ออดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน อย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือแม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาก็ร้อนแรง
คำตอบอยู่ที่ นายชวน หลีกภัย
ต้องยอมรับว่า ประสบการณ์ทางการเมืองของ นายชวน หลีกภัย ไม่ธรรมดา
โดยพื้นฐานเขาคือ ส.ส.ต่อเนื่องทุกสมัยตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร กระทั่งเดือนมีนาคม 2562 ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผ่านร้อนหนาวในทางการเมืองมายาวนาน
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535
เคยเป็น “นายกรัฐมนตรี” มาแล้ว 2 หน
เกียรติภูมิทางการเมืองของ นายชวน หลีกภัย จึงสูงเด่นเป็นสง่า
เมื่อยกหูโทรศัพท์ถึง นายอานันท์ ปันยารชุน ก็ราบรื่น เมื่อยกหูถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ราบรื่น เชื่อได้เลยว่ากับ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ก็ราบรื่น
แม้บางคนจากพรรคพลังประชารัฐออกมา “ด่า” สาดเสียเทเสีย
คล้อยหลังเสียงด่านอกจากการขอโทษไปยังอดีตนายกรัฐมนตรีอันตกเป็นขี้ปาก จังหวะก้าวหนึ่งของ นายชวน หลีกภัย คือการยกหูไปยัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ขอความเห็นในฐานะที่เคยเป็น “นายกรัฐมนตรี”
เพียงแค่นี้พรรคพลังประชารัฐก็รู้อยู่เป็นอย่างดีว่ากำลังเล่นกับใคร
กรณีของ “คณะกรรมการสมานฉันท์” จึงกำลังกลายเป็นเดดล็อกเป็นไฟต์บังคับในทางการเมืองที่รัฐบาลและโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำต้องกล้ำกลืนยอมรับ
เพราะเป็น “ข้อเสนอ” ที่มิอาจ “ปฏิเสธ” ได้