รีเซต

วัคซีนโควิด-19: หมอบุญเตรียมเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส คาดเปิดชื่อหน่วยงานรัฐผู้นำเข้าพรุ่งนี้

วัคซีนโควิด-19: หมอบุญเตรียมเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส คาดเปิดชื่อหน่วยงานรัฐผู้นำเข้าพรุ่งนี้
ข่าวสด
14 กรกฎาคม 2564 ( 20:58 )
81

 

ผู้บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ระบุว่าเตรียมลงนามสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จากเยอรมนี 20 ล้านโดส โดยจะทยอยส่งมอบล็อตแรกภายในเดือน ก.ค. นี้ และย้ำว่าหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้นำเข้าวัคซีนไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

 

นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.) บริษัทจะลงนามสัญญาเพื่อนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 กับ บริษัท ไบโอเอนเทค ที่มีโรงงานผลิตวัคซีนไฟเซอร์ในเยอรมนี โดยจะมีหน่วยงานรัฐที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนร่วมลงนามด้วย ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยชื่อหลังจากการลงนามแล้วเสร็จ

 

 

การลงนามสัญญาที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการยืนยันจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อและนำเข้า หลังจากกระบวนการต่าง ๆ ดำเนินการมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว ส่วนงานด้านเอกสารสำคัญ คำสั่งซื้อ ร่างสัญญาต่าง ๆ เตรียมไว้พร้อมแล้ว

 

 

"เหลือเพียงแค่ทางด้านสหรัฐฯ เท่านั้นว่าจะอนุมัติตามที่ขอไป 20 ล้านโดส ในระยะแรกหรือไม่" นพ. บุญกล่าว

 

 

ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีนนั้น นพ. บุญอธิบายว่า เนื่องจากเป็นวัคซีนไฟเซอร์ชนิดเดียวกันกับที่บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับใช้ในไทยได้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว จึงคาดว่าใช้ระยะในการพิจารณาเพียงหนึ่งวัน หลังจากนั้นก็นำเข้าได้เลยภายใน 1 สัปดาห์ โดยเครือโรงพยาบาลธนบุรีจะเป็นผู้กระจายวัคซีน

 

 

ยังไม่เปิดชื่อหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้นำเข้า

เมื่อถามถึงหน่วยงานรัฐที่จะเป็นผู้นำเข้าตามข้อกำหนดของไฟเซอร์ที่จะขายวัคซีนให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น นพ. บุญปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อหน่วยงานในขณะนี้ โดยยืนยันว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเป็นผู้นำเข้าวัคซีน

 

 

"ไม่มี เขาช่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตอนนี้ต้องร่วมกันช่วยประเทศเป็นหลัก" นพ. บุญกล่าว

 

 

ผู้บริหารรายนี้เผยว่าได้รับการขอร้องไม่ให้เอ่ยถึงชื่อหน่วยงานผู้นำเข้าจนกว่าจะมีการยืนยันทุกอย่างในวันที่พฤหัสบดีนี้เท่านั้น และยังระบุถึงบุคคลสำคัญที่เข้ามามีส่วนช่วยในการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ดังกล่าวอีกคนคือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยช่วยประสานงานหลายจุดจนสำเร็จ

 

 

"ผมไม่โทษว่า เป็นความผิดของใครที่ไม่ติดต่อหรือไม่พยายามนำเข้า แต่เราประสานกับเขามาตั้งแต่เดือน ต.ค. นี่ก็ร่วม 8 เดือนแล้ว"

จากข้อมูลของเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ได้ระบุถึงการอนุญาตให้ 5 หน่วยงานหลักมีสิทธิในการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1) กรมควบคุมโรค 2) องค์การเภสัชกรรม 3) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 4) สภากาชาดไทย และ 5) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

 

 

สะท้อนนานาปัญหาการนำเข้าโดยภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม นพ.บุญได้สะท้อนให้เห็นปัญหาการนำเข้าวัคซีนโดยภาคเอกชนที่ผ่านมาว่า ที่โรงพยาบาลของเขาไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะติดเงื่อนไขในภาวะฉุกเฉินที่ผู้ผลิตจะต้องทำสัญญากับหน่วยงานรัฐเท่านั้น จนกระทั้งถึงเดือน เม.ย. ที่ไวรัสโควิด-19 เกิดระบาดหนักเป็นระลอกที่ 3 รัฐบาลจึงมีนโยบายเรื่องวัคซีนทางเลือก เพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมในการนำเข้าวัคซีนได้ หลังจากนั้นไม่นาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็สามารถนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มได้ภายใน 2 สัปดาห์

 

 

"เราจึงเห็นว่าจะต้องใช้ช่องทางในลักษณะเดียวกัน โดยไม่ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรมเพราะกระบวนการล่าช้ามาก"

 

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักที่รัฐจัดหาให้ประชาชน จึงทำให้บริษัทเอกชนรายอื่น ๆ ไม่สามารถทำสัญญากับบริษัทไฟเซอร์ในไทยได้ และเป็นที่มาของการหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ผลิตวัคซีนจากสหรัฐอเมริกาว่า ให้ทำสัญญาผ่านบริษัทผู้ผลิตยา ไบโอเอนเทคของเยอรมนีแทน ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์เช่นกัน

 

 

คิดราคาฉีดวัคซีน 900 บาทต่อโดส

สำหรับแผนการส่งมอบวัคซีนล็อตแรกคาดว่าจะขนส่งจากโรงงานในเยอรมนีมาถึงไทยภายในเดือนก.ค. นี้ จำนวน 5 ล้านโดส จากทั้งหมด 20 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะทยอยจัดส่งมา โดยจะเข้ามาสมทบช่วยแผนการกระจายของรัฐบาล แบบคู่ขนาดผ่านภาคเอกชน โดยตั้งเป้าว่าจะกระจายวัคซีนให้ได้ในอัตรา 500,000 โดสต่อวัน และจะทำให้อัตราการฉีดต่อวันของทั้งประเทศเพิ่มเป็นวันละ 1 ล้านโดส เพื่อให้ทันกับสถานการณ์วิกฤตนี้

นพ.บุญระบุว่า บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ยินดีขายให้ภาคเอกชนที่ต้องการฉีด เบื้องต้นราคาต้นทุนอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือราว 555 บาทต่อโดส ยังไม่รวมค่าขนส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคิดราคารวมโดยประมาณ 900 บาทต่อโดส

 

 

สำหรับการนำเข้าล็อตนี้เพื่อช่วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในจังหวัดและเมืองหลัก ๆ ด้านเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ และพัทยาให้ครอบคลุม 80% ของประชากรโดยเร็วที่สุด

 

 

เล็งนำเข้า Novavax เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก 10 ล้านโดส

สำหรับกรณีการนำเข้าวัคซีนโนวาแวกซ์ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นวัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูง นพ.บุญกล่าวว่า การเจรจาซื้อดังกล่าวตั้งเป้าไว้ว่าให้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster dose) ที่จะเป็นเข็มที่ 3 และ 4 ในอนาคต โดยคาดว่าจองไว้ราว 10 ล้านโดส ซึ่งโรงพยาบาลธนบุรีจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเอง

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอความชัดเจนเพิ่มเติม เพราะวัคซีนดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา

 

 

ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นานั้น จะเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ตกลงเป็นวัคซีนทางเลือกกับภาครัฐที่สั่งจองมา 5 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะนำเข้ามาได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง