โอมิครอนแพร่ทั่วไทยเกือบ 100% สธ.ยันสายพันธุ์ BA.2 แพร่เร็ว แต่ยังไม่รุนแรง
ข่าววันนี้ 7 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่พบปัญหาเรื่อยๆ จะเห็นว่า ปัจจุบันนี้สายพันธุ์ของโอมิครอนมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว ซึ่งสายพันธุ์เดลต้า แกรมมา จะเหลือน้อยมาก วันนี้ โอมิครอน BA.1 ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักอยู่ดี โดยยังมี BA.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกของ BA.1 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเป็นสไปรซ์โปรตีน โดยจะเรียกว่า R346K ซึ่งมีความแตกต่างจาก BA.1 และพบเจอในจำนวนที่ค่อนข้างมาก ประมาณ 600,000 กว่าราย ต่อมาเป็น BA.2 พบ 185,000 ราย โดยประมาณ แต่ในขณะที่ BA.3 พบได้น้อยมาก มีรายงานมาเพียง 511 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่มีการเฝ้าระวังเรื่องของสายพันธ์ุมาโดยตลอดนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำการตรวจกลุ่มตัวอย่างไปแล้ว 1,900 ราย พบสายพันธุ์เดลต้าเพียง 7 ราย และที่เหลือทั้งหมดเป็นเชื้อโอมิครอน ซึ่งขณะนี้แทบจะพูดได้ว่า โอมิครอนแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 99.63 หรือเกือบจะร้อยละ 100 แล้ว และพบอยู่ในทุกจังหวัด
“ในส่วนของความเคลื่อนไหวรายสัปดาห์ในขณะนี้ ชนเพดานทั้งหมดแล้วเกือบร้อยละ 100 เป็นโอมิครอน และส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หากได้รับการตรวจและผลเป็นบวก ก็เป็นเชื้อโอมิครอน แทบจะไม่มีเชื้อเดลต้าเหลือแล้ว และในประเทศไทยเองก็เหลือเชื้อเดลต้าน้อยมาก” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับสัดส่วนที่พบว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ในภาพรวมพบว่า เป็น BA.2 เกินกว่าร้อยละ 51.8 หรือเกินครึ่ง และเป็น BA.1 ร้อยละ 48.2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า BA.2 มีการแพร่ระบาดที่เร็วกว่า
“โดยจะพบในร้อยละที่สูงกว่านี้ และสักพักจะสามารถแทน BA.1 ได้ เว้นแต่ว่าจะเจอตัวอื่นๆ เช่น BA.1.1 ซึ่งจะต้องเฝ้าดูกันต่อไป การตรวจหาสายพันธุ์ จะตรวจทั้งหมดทุกเขต ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่กระจายทั้งประเทศ ไม่ใช่จากหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ทั้งนี้ จะมีการเฝ้าระวังแบบภาพรวม คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือพวกคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นโดนไม่ทราบสาเหตุ บุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มติดเชื้อซ้ำ โดยผลการตรวจพบว่า ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไร ส่วนคนที่ติดเชื้อซ้ำ ก็ยังพบ BA.2 อยู่ร้อยละ 30 ที่เราเห็นว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะว่ามันแพร่ระบาดเร็ว องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า BA.2 ในแง่ของการแพร่ระบาดนั้นเร็วขนาดไหน แต่ถ้าในแง่ของความรุนแรงนั้น ยังไม่ได้แตกต่างอะไร แต่สำหรับ BA.2 จะมี Secondary Attack Rate ที่จะแพร่กระจายไปยังผู้อื่นในครัวเรือนได้สูงกว่าอยู่ที่ร้อยละ 39 ส่วน BA.1 อยู่ที่ร้อยละ 29 ส่วนเรื่องการหลบวัคซีนนั้น พบว่า BA.2 มีการดื้อวัคซีนขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า แต่สิ่งที่เราพบซึ่งเป็นเรื่องสำคัญคือ ยาโมโนโคนอลแอนติบอดี้ ซึ่งเป็นยารักษาโควิด-19 ที่มีราคาแพงมากนั้น ล่าสุดพบว่า สามารถรักษาโควิด-19 สายพันธุ์อื่นได้ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ได้ แต่ไม่สามารถรักษาโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้ แต่ยารักษาอื่นๆ เช่น ฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ยังได้ ไม่มีผลกระทบต่อแนวทางการรักษาอื่นๆ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสายพันธุ์ย่อย หากพบในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวจะมีความรุนแรงหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า พบความแตกต่างเรื่องความรุนแรง แต่อยากเรียนว่าการติดเชื้อเมื่อติดเร็วขึ้น ก็จะมีคนรับและแพร่เชื้อได้มากขึ้น ดังนั้น การติดเชื้อในครอบครัว โอกาสแพร่ไปยังคนใกล้เคียงมีโอกาสมากกว่า และสำหรับโอมิครอนนั้น วัคซีน 2 เข็ม ช่วยไม่ได้มาก ในเรื่องของการติดเชื้อ ส่วนเรื่องความรุนแรงยังพอช่วยได้บ้าง แต่หากต้องการให้แน่ใจ ขอความกรุณาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มที่ 3
เมื่อถามต่อว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยขณะนี้ จะมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ย่อยที่พบในขณะนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากเป็น BA.1 หรือ BA.2 ไม่ได้มีความแตกต่าง และวัคซีนทุกยี่ห้อ เมื่อฉีดไปถึงระยะเวลาหนึ่ง ภูมิคุ้มกันจะตก ไม่ว่ายี่ห้อใด หากห่างไป 3-4 เดือน ภูมิฯ จะลดลง ดังนั้น เข็มกระตุ้นจะมีประโยชน์มาก