'ฮู' เตือนเสี่ยงอันตราย ฉีดวัคซีนไขว้ 'บิ๊กตู่' ย้ำหมอควรดูให้รอบคอบ นพ.ยงยัน ฉีดใน 1,200 คนได้ผลดี
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยอดผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง พบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จนกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับสูตรการฉีดวัคซีนใหม่โดยให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแรกไปแล้ว ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าในเข็ม 2เข็ม ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ซึ่งเป็นการประชุม ครม.สัปดาห์ที่ 2 จากบ้านพัก เนื่องจากนายกฯต้องกักตัวหลังสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยวันนี้เป็นวันที่ 9 ของการกักตัว โดยที่ประชุม ครม. ใช้เวลายาวนานและเสร็จสิ้นลงเมื่อเวลา 14.00 น. โดยส่วนใหญ่เป็นการหารือถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อจากโควิด-19 โดย ครม.ได้อนุมัติการขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน
- บิ๊กตู่แนะหมอดูให้ดีฉีดไขว้ยี่ห้อ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นอีกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากที่บ้านพัก เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการกักตัว โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งได้มีการนำคลิปวิดีโอของดร.สมยา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่พูดถึงการผสมสูตรวัคซีน เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ มาเปิดให้ที่ประชุมได้รับชม โดยนายกฯ ได้พูดถึงมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่จะให้ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวให้หมอเป็นผู้ตัดสินใจ และนำข้อมูลขององค์การอนามัยโลกมาประกอบการพิจารณาให้ถี่ถ้วน ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ไม่ได้มีแค่หมอในสธ. แต่มีหมอจากหลายภาคส่วนอยู่ในนั้นด้วย
- เข้มชุดแรพิดเทสต์ห้ามแพง
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมครม. นายอนุทินจึงได้รายงานต่อที่ประชุมว่า แอสตราเซนเนก้าจะส่งวัคซีนให้ไทยเดือนละ 5-6 ล้านโดส พร้อมกันนี้นายอนุทินยังได้นำข้อมูลมาเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ขณะนี้โครงการโคแวกซ์ (Covax) มีการสั่งวัคซีนซิโนแวคจำนวน 50-60 ล้านโดส เพื่อไปบริจาคประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามเรื่องที่ที่ประชุมใช้เวลาถกกันนานที่สุดคือ การตรวจแบบแรพิตแอนติเจน เทสต์ (Rapid Antigen Test) ที่พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถามว่า ทำไมชุดตรวจดังกล่าวราคาจึงแพง ทำอย่างไรจึงจะให้ราคาถูกลง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าสำหรับอุปกรณ์ที่นำเข้ามาแก้ปัญหาโควิด-19 เลย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์(พณ.)แนะนำว่า หากให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.)นำเข้ามาเองจะทำให้กำหนดราคาในตลาดได้จะดีหรือไม่ ทำให้นายอนุทิน ชี้แจงว่า สธ.ได้อนุมัติให้เอกชนนำเข้าชุดตรวจดังกล่าวอยู่แล้ว สามารถซื้อจากเอกชน 24 รายได้ แต่จะกลับไปดูรายละเอียดว่า อภ.สามารถนำเข้าได้อีกหรือไม่ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้พณ.และสธ.ไปดำเนินการเพื่อควบคุมไม่ให้การซื้อชุดตรวจเป็นภาระของประชาชน และย้ำด้วยว่า สุดท้ายแล้วหากประชาชนต้องซื้อชุดตรวจมาใช้เอง สธ.ต้องมีข้อแนะนำที่ชัดเจนในการใช้ เพื่อให้ทุกอย่างปลอดภัย
- อย.คาดใช้จริงสัปดาห์หน้า
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า หลังจากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชุดตรวจและน้ำยาเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง (COVID-19 Antigen Test Self-test kits) ขณะนี้ อย.ได้ให้ทางบริษัทผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเร่งจัดทำคู่มือในการอธิบายประชาชน และ แสดงหลักฐาน ว่า การตรวจด้วยชุดทดสอบนี้ ที่จะมีการตรวจในลักษณะการแยงโพรงจมูกด้านหน้า มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการแยงโพรงจมูกด้านหลังที่มีการใช้ในสถานพยาบาล เพื่อให้มีมาตรฐาน
ทั้งนี้การตรวจด้วยชุดทดสอบแอนติเจน เทสต์ คิทนี้ คาดว่าจะสามารถใช้ได้จริงในสัปดาห์หน้า ในระหว่างนี้ อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เร่งทำคลิปวิดีโออธิบายการใช้ในประชาชน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องถึงขั้นตอนการทำ ตั้งแต่การแยงจมูกในโพรงด้านหน้า ที่ต้องลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร และปั่นจมูกชิดด้านขวา เพื่อให้ตัวอย่างในการตรวจที่สมบูรณ์ จากนั้น นำมาแช่ในน้ำยา และรวมถึงวิธีการจัดเก็บทำลายเพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะติดเชื้อ รองเลขาธิการ อย.กล่าว และว่า ขณะนี้มีบริษัทที่คาดว่าจะสามารถปรับชุดทดสอบให้สามารถใช้ได้ในโพรงจมูกด้านหน้า 7 ราย เดิมมี 24 ราย ที่เป็นชุดทดสอบที่ใช้ในโพรงจมูกด้านหลัง อย่างไรก็ตาม การวางจำหน่ายชุดทดสอบนี้จะทำในร้านขายยาที่มีเภสัชกร และต้องมีการรายงานการจำหน่ายไปยัง อย.เหมือนกับการเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ทั้งนี้ ทราบว่าภายในสัปดาห์นี้ สปสช.ได้มีการกระจายชุดทดสอบนี้ลงไปในคลินิกชุมชนอบอุ่นแล้ว เริ่มมีการใช้ในประชาชน
- แจงไขว้ซิโนแวค-แอสตร้า
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความคืบหน้ากรณีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากการเปรียบเทียบภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน 1 เดือน พบว่ากลุ่มแรกฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงเท่ากับผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว ซึ่งการเท่ากันเช่นนี้ ตามหลักการก็จะป้องกันโรคได้ในสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ด้วยไวรัสกลายพันธุ์เป็นเดลต้า จึงทำให้ภูมิต้านทานที่เท่ากันไม่สามารถป้องกันได้ ขณะที่ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม พบว่าภูมิต้านทานสูงเพียงพอป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ต้องใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์ ในการฉีดครบ 2 เข็ม ห่างไปอีก 1 เดือน ดังนั้น หากเราฉีดวัคซีนเข็ม 1 เป็นซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ ภูมิต้านทานใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้า 2 เข็ม ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ภูมิต้านทานประมาณ 900 ยูนิต แต่หากซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ได้เกือบ 800 ยูนิต และเมื่อเปรียบกับซิโนแวค 2 เข็ม อยู่ที่ 100 ยูนิต ส่วนการติดเชื้อในธรรมชาติ 70-80 ยูนิต ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ จึงมีโอกาสป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้มากกว่า และใช้เวลาระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกันเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น ในสถานการณ์ระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็วรุนแรง เรารอเวลาถึง 12 สัปดาห์ ไม่ได้ จำเป็นต้องมีภูมิต้านทานที่สูง ขึ้นเร็ว ศ.นพ.ยงกล่าวเผยฉีด1.2พันคน-ปลอดภัย
ศ.นพ.ยงกล่าวว่า การฉีดสลับชนิดแล้วลดเวลาเหลือ 6 สัปดาห์ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 2 ชนิด จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ แต่ในอนาคต หากมีวัคซีนเทคโนโลยีอื่นที่ดีกว่า หรือพัฒนาสลับเข็มได้ดีกว่า ก็จะมีการหาวิธีการที่ดีกว่า หรืออนาคตถ้าไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ อาจจะต้องมีวัคซีนที่จำเพราะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้น ตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องมีการฉีดทุกปี เราจะบรรลุผลสำเร็จในภูมิต้านทานสูงในระยะเวลาอันสั้นกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดไวรัลเเว็กเตอร์ 2 เข็ม
ฉะนั้น เวลาทุกวันของเรามีค่าในการต่อสู้โรคร้าย ผมขอสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่ศึกษามาจะเป็นประโยชน์ในการใช้จริง การฉีดวัคซีนไขว้สลับกัน ความปลอดภัยต้องมาก่อน จากการศึกษาเบื้องต้นที่ออกมาแล้ว ในไทยเรามีผู้รับวัคซีนสลับกันมากกว่า 1,200 คน มากที่สุดอยู่ใน รพ.จุฬาฯ และถูกบันทึกลงในหมอพร้อมที่ต้องบันทึกอาการข้างเคียง พบว่ามากกว่า 1,200 คน และไม่มีใครที่มีอาการข้างเคียงรุนแรง เป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัยในชีวิตจริง และการศึกษาของเรา ที่เราเฝ้าคนไข้ทุกวัน ก็จะมีการนำข้อมูลออกมา ขอให้มั่นใจว่าเราไม่ได้เป็นคนแรกที่ฉีดสลับกัน ศ.นพ.ยงกล่าว
- ฮูเผยยังไม่มีผลศึกษาพอ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดร.ซอมญ่า สะวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ออกมาให้คำแนะนำเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ตามเวลาในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ให้ผู้คนผสมและจับคู่วัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตหลายราย โดยสะวามินาธานเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า แนวโน้มที่อันตราย เนื่องจากมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผลกระทบหรือผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เพราะมันจะเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศต่างๆ หากประชาชนสามารถตัดสินใจด้วยตนเองว่าพวกเขาจะฉีดวัคซีนเมื่อใด และใครจะได้รับวัคซีนโดสที่ 2, 3 และ 4นี่เป็นเทรนด์ที่อันตรายเล็กน้อย เพราะขณะนี้เรายังคงอยู่ในสภาวะที่ปราศจากข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับการใช้วัคซีนหลายยี่ห้อผสมและจับคู่กัน สะวามินาธานกล่าวระหว่างการบรรยายสรุปออนไลน์ และว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกมีผลการศึกษาอย่างเป็นทางการเพียงแต่ผลการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์เท่านั้น จึงอยากให้มีผลการศึกษาเพิ่มเติม มันอาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้