ดอกเบี้ยเงินกู้ 10 แบงก์ อัปเดตเดือนมิถุนายน2565 เช็กเลย!!
ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เพราะในปัจจุบันหลายคนต้องพึ่งพาการขอสินเชื่อหรือกู้เงินเพื่อมาบริหารสภาพคล่องในครอบครัว เพราะด้วยสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจทำให้ประสบปัญหาด้านการเงินจนต้องพึ่งพาเงินอนาคต
ซึ่งการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่อยู่ในระบบ จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าจะไม่มีดรามาเจ้าหนี้ตามทวงหนี้ หรือต้องขายไตแลกหนี้เหมือนในละครแน่นอน
ทำความรู้จักกับ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ มักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี ซึ่งผู้ให้กู้ เช่น ธนาคาร หรือบริษัทเรียกเก็บจากผู้กู้เพื่อเป็นผลตอบแทนจากการให้กู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท หลายอัตรา โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ ซึ่งในที่นี้ผู้ให้กู้หมายถึง สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank
ดอกเบี้ยเงินกู้ ที่พบบ่อย ๆ จะมี 2 ประเภทคือ ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่และแบบลอยตัว ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) | อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) |
อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้หรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี | อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราว ๆ ไป เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น MLR MOR MRR |
MLR MOR และ MRR คืออะไร
ถ้าคนที่ยังไม่เคยศึกษาเรื่องการขอสินเชื่อ อาจจะไม่คุ้นเคยกับดอกเบี้ยสองตัวนี้เท่าไหร่ โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อ้างอิงในการเรียกเก็บ ดอกเบี้ยเงินกู้ จากลูกค้า ซึ่งจะมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น
1. MLR (Minimum Loan Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
2. MOR (Minimum Overdraft Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี
3. MRR (Minimum Retail Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย
โดยสถาบันการเงินอาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บสำหรับสินเชื่อประเภทต่าง ๆ โดยบวกอัตราเพิ่มหรือลดเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเหล่านี้ เช่น MLR +/- x%
ภาพประกอบจาก : AFP
ทำไมอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น MLR ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน
การที่แต่ละธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ก็เพราะต้นทุนของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สภาพคล่อง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ธนาคารต้องดำรง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติธนาคารก็มักจะใช้ MLR กับทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย
ทำไมอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมีบวกหรือลบต่อท้ายด้วย เช่น MLR + X% และทำไม X% ของลูกค้าแต่ละรายจึงไม่เท่ากัน
กรณีนี้เกิดขึ้นหากผู้กู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ฐานะทางการเงินไม่ค่อยมั่นคง ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (X%) จากอัตราอ้างอิง เพื่อชดเชยความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายที่อาจแตกต่างกันไป หรือหากผู้กู้มีความเสี่ยงต่ำ ธนาคารอาจคิดดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอัตราอ้างอิงก็ได้ เช่น MLR + X% ซึ่ง X% ของลูกค้าแต่ละรายจึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน และยังขึ้นกับดุลพินิจ หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างกันไปของธนาคารแต่ละแห่ง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล และสอบถามธนาคารที่เราสนใจหลาย ๆ แห่ง เพื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกันดู ว่าธนาคารแห่งไหนมีเงื่อนไขที่ดีและเหมาะสมตอบโจทย์กับเรามากที่สุด
เทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ 10 ธนาคาร ประจำเดือนมิถุนายน 2565
สถาบันการเงิน | ดอกเบี้ย MOR | ดอกเบี้ย MLR | ดอกเบี้ย MRR |
กรุงเทพ | 5.87 | 5.25 | 5.95 |
กรุงไทย | 5.82 | 5.25 | 6.22 |
กสิกรไทย | 5.84 | 5.47 | 5.97 |
ไทยพาณิชย์ | 5.845 | 5.25 | 5.995 |
กรุงศรีอยุธยา | 5.95 | 5.58 | 6.05 |
ทหารไทยธนชาต | 6.15 | 6.125 | 6.28 |
ยูโอบี | 6.80 | 6.60 | 7.35 |
ซีไอเอ็มบี ไทย | 6.85 | 6.35 | 7.35 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | 7.25 | 6.625 | 7.35 |
อ้างอิงข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย อัปเดต ณ วันที่ 9 มิ.ย.2565
หมายเหตุ เป็นข้อมูลล่าสุดที่ ธปท.ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ ณ เวลาประมาณ 12.00 น.
* ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2548 ไม่รวมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
การพิจารณาเลือกขอสินเชื่อ นอกจากอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ ที่แน่นอนว่าจะต้องอยากได้ดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในตลาด แต่ควรตัดสินใจจากปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย โดยควรศึกษาข้อมูลให้มากๆหลายๆแบงก์เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่าง ที่สำคัญเน้นเรื่องของจุดประสงค์ในการกู้ของตนเองว่ากู้เพื่ออะไร ระยะเวลาในการผ่อนชำระและดอกเบี้ย อัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เราต้องจ่าย รวมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้ จะต้องแน่ใจว่าจะไม่กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย , ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : AFP , TNN ONLINE