มู่หลาน ถล่มภาคเหนืออ่วม เฝ้าระวัง 35 เขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา จากอิทธิพลของพายุโซนร้อยมู่หลานส่งผลกระทบให้เกิดฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ อาทิ จ.เชียงราย พื้นที่ อ.เมืองเชียงราย น้ำจากเทือกเขาไหลเข้าท่วมถนนพหลโยธินสายเชียงราย-แม่จัน พื้นที่ ต.บ้านดู่-ต.นางแล ตั้งแต่บริเวณใกล้กับทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ไปจนถึงบริเวณหมู่บ้านป่าห้า ต.นางแล ระยะทางประมาณ 1-2 กิโลเมตร ส่วนที่เทศบาลตำบลแม่จัน อ.แม่จัน น้ำจากแม่น้ำจันเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำและท่วมตลาดสดแม่จัน เจ้าหน้าที่ต้องใช้กระสอบทรายกั้นชะลอน้ำไม่ให้ทะลักไหลแรงเกินไป
ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำป่าจากต้นน้ำบนดอยสูงไหลหลากลงมาตามลำห้วยแม่ต๋า และล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวในหลายหมู่บ้านของ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม และท่วมบ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าตลิ่งหลายหลังคาเรือน บางหลังถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร นาข้าวได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง สัตว์เลี้ยงเป็ด ไก่ สูญหาย คอสะพานในพื้นที่ถูกกัดเซาะเสียหาย
ที่ จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ อ.ฝาง มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.เวียง ต.ม่อนปิ่น ต.โป่งน้ำร้อน และยังเกิดน้ำป่าล้นสปิลเวย์ ขณะที่ อ.แม่อาย เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ดินสไลด์และเสาไฟฟ้าโค่นล้มขวางทางสัญจร ถนนหมายเลข 1314 บริเวณบ้านปางต้นฆ้อง หมู่ 1 ต.มะลิกา ส่วน ต.แม่อาย หมู่ 5, 6, 7 และหมู่ 8 น้ำหลากเข้าบ้านเรือนประชาชน
ที่ จ.พะเยา น้ำป่าสายน้ำบงไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านตั้งแต่เวลา 03.00 น. ชาวบ้านไม่สามารถเก็บข้าวของหนีน้ำได้ทัน ที่ อ.ภูซาง ทั้ง 5 ตำบล โดย ต.สบบง ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ที่ จ.น่าน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่ อ.ปัว และ อ.เชียงกลาง กว่า 100 หลังคาเรือน น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วม อ.ท่าวังผา ระดับน้ำสูงมากถึง 1.5 เมตร ชาวบ้านต้องหนีขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 2 ของบ้าน และที่บ้านนาหนุน, ท่าค้ำ, ดอนตัน, สบหนอง รวมทั้งเขตเทศบาลตำบลท่าวังผา ขณะที่ อ.บ่อเกลือ เกิดดินสไลด์ทับรถยนต์ของนักท่องเที่ยวที่พักแรมในหมู่บ้านสะปัน อ.บ่อเกลือ 2 คันเสียหาย เสาไฟฟ้าหักโค่นทับเส้นทางถนนหลายช่วง รไม่สามารถสัญจรได้ นักท่องเที่ยวจำนวนมากติดค้างอยู่ในหมู่บ้านสะปัน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑลเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุโซนร้อนมู่หลาน ระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกสทนช.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.ให้เตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยตามประกาศของ กอนช.ฉบับที่ 26/2565 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
นายสุรสีห์ กล่าวว่า กอนช.ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ จะมีปริมาณน้ำรวมกันไม่น้อยกว่า 4,972 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น พื้นที่ภาคเหนือ 9 แห่ง คาดการณ์น้ำไหลเข้า 2,024 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะเขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม กอนช.ประเมินว่ามีแนวโน้มน้ำเต็มความจุเขื่อนและเสี่ยงล้นทางระบายน้ำล้น จึงแจ้งให้กรมชลประทานเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และพิจารณาปรับการระบายน้ำในอัตราที่เหมาะสม หากมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำให้แจ้งเตือนประชาชนด้านท้ายเขื่อนทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงไว้ล่วงหน้า
นายสุรสีห์กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่12 แห่ง คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวมกันประมาณ 1,303 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 2 แห่ง มีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกันประมาณ 177 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 6 แห่ง คาดว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกันประมาณ 137 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 2 แห่ง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกัน 158 ล้านลบ.ม.
“ได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำไหลล้นเขื่อน และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ” นายสุรสีห์กล่าว