รีเซต

ปธ.กมธ.ดีอีเอส แนะ “ศบค.” เร่งบูรณาการทำงาน-รวมแอพพ์ต่างๆ อำนวยความสะดวก กรอกข้อมูลโควิด ของปชช.

ปธ.กมธ.ดีอีเอส แนะ “ศบค.” เร่งบูรณาการทำงาน-รวมแอพพ์ต่างๆ อำนวยความสะดวก กรอกข้อมูลโควิด ของปชช.
มติชน
29 ธันวาคม 2564 ( 11:05 )
79

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าการประชุมของกมธ. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือถึงประเด็นปัญหาความยุ่งยาก และซ้ำซ้อนของประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบแอปพลิเคชั่นของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันในแต่ละหน่วยงานหรือ แต่ละจังหวัดกำหนดให้ประชาชนที่เดินทางเข้า-ออก ต้องกรอกข้อมูลที่เกี่ยวกับการได้รับวัคซีน ประวัติสุขภาพ และอื่นๆ ที่จำเป็นซ้ำซ้อนบนแอปพลิเคชั่นของหน่วยงานรัฐหลายตัว ทั้งนี้กมธ. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมการปกครอง เข้าร่วม อย่างไรก็ดีในกมธ. ได้มีความเห็นร่วมกันว่าระบบการลงข้อมูลดังกล่าวควรพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นเดียวและใช้ได้ทั่วไป แต่จากการรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่ชี้แจง ระบุว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานไม่สามารถกำกับหรือสั่งการข้ามหน่วยงานได้ เช่น กรณีที่แต่ละจังหวัดพัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้ประชาชนใช้ภายในจังหวัดเพื่อเดินทางเข้า-ออก อีกทั้งมีความจำเป็นต้องแยกแอปพลิเคชั่นบางตัว เช่น หมอพร้อม, ไทยแลนด์พาส เพราะมีวัตถุประสงค์การใช้ที่ต่างกัน

 

น.ส.กัลยา กล่าวด้วยว่า หลังจากที่รับฟังคำชี้แจงแล้ว กมธ.ฯ มีข้อเสนอสำคัญ คือ การบริหารจัดการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ควรเร่งบูรณาการในรูปแบบ one stop service หรือจุดเดียวจบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทาง ส่วนประเด็นที่หน่วยงานต่างๆ มีการบริหารงานภายในที่สั่งการข้ามองค์กรไมไ่ด้นั้น เชื่อว่าตัวแทนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ศบค. จะนำประเด็นไปสะท้อนให้กับที่ประชุมศบค.​รับทราบและเร่งปรับปรุงแก้ไข

 

“ไวรัสโควิด-19 เชื่อว่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นการหาช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานลดขั้นตอนต่างๆ ซึ่งกมธ. เชื่อว่าหากหน่วยงานรัฐสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้ จะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยเฉพาะข้อมูลและรายละเอียดที่จะนำไปแก้ไขปัญหาและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในอนาคตได้” น.ส.กัลยา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง