พิษมู่หลาน น้ำป่าเขาใหญ่ไหลท่วม ต้องกางเต็นท์นอนริมถนน หมู่บ้านถูกตัดขาด รีสอร์ทจมน้ำ
เมื่อเวลา 21.20 น. วันที่ 12 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานความคืบหน้า จากที่ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันติดต่อกันจากอิทธิพลของพายุมู่หลานส่งผลให้น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลกที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของเขต อ.ประจันตคาม ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ตั้งแต่กลางดึก วันที่ 10 ส.ค. 65 เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป้องกันและบรรเทาวสาธารณะภัย จ.ปราจีนบุรี (ปภ.จังหวัดปราจีนบุรี ) ลงตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานที่เกิดภัย/จำนวนผู้ประสบภัย รวม 3 ตำบล 13 หมู่บ้าน 300 ครัวเรือน ได้แก่ พื้นที่ ต.บุฝ้าย หมู่ที่ 2 จำนวน 6 ครัวเรือน หมู่ที่ 3 จำนวน 11 ครัวเรือน หมู่ที่ 6 จำนวน 5 ครัวเรือน หมู่ที่ 7 จำนวน 11 ครัวเรือน ต.หนองแก้ว หมู่ที่ 1 จำนวน 6 ครัวเรือน หมู่ที่ 2 บ่อปลา 3 บ่อ หมู่ที่ 5 จำนวน 5 ครัวเรือน หมู่ที่ 8 จำนวน 156 ครัวเรือน ต.โพธิ์งาม หมู่ที่ 5,7,11,13,17 ประมาณ 100 ครัวเรือน ตามที่เสนอรายละเอียดไปแล้วก่อนหน้านี้ นั้น
ช่วงค่อนรุ่งวันนี้ (12ส.ค.) หน่วยกู้ภัยร่วมกตัญญู จ.ปราจีนบุรีได้รับการประสานจากนายสามารถ โพธิ์ทอง กำนัน ต.บุฝาย อ.ประจันตคาม จากที่ฝนตกหนักตั้งแต่หัวค่ำนี้ น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลกมวลน้ำป่าจากน้ำตกตะคล้อ,น้ำตกสลักได,น้ำตกฟองสบู่ ที่อยู่ทางด้านเหนือติดกับพื้นที่ หมู่บ้านตะคล้อใต้ หมู่ 7 ต.บุฝ้าย ได้ระบายลงคลองประจันตคามไม่ทัน เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ดูแลฝายกั้นคลอง จึงเปิดบานประตูระบายน้ำเหนือฝาย ที่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำป่าที่ไหลหลากได้พร้อมๆกัน จำนวน 2 บาน
ส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือฝาย น้ำป่าได้ หลากเข้าท่วมในพื้นที่ หมู่บ้านตะคล้อใต้ หมู่ 7 ที่อยู่ด้านล่างติดกันทันทีทั้งหมู่บ้าน ระดับน้ำเร็วและแรง ระดับน้ำสูงกว่า 60 -80 ซม.ท่วมทั้งหมู่บ้าน 40 ครัวเรือน ประชาชนติดในบ้านขณะต่างกำลังหลับสนิท ทางเข้า-ออกหมู่บ้านไม่สามารถใช้รถยนต์ขนาดเล็กเข้าไปได้ต้องใช้รถยกสูง หรือ ทางเรือเท่านั้น โดยมีคนเฒ่าคนแก่ ผู้ป่วยติดเตียง และขนข้าวของหนีน้ำไม่ทันเนื่องจากน้ำหลากท่วมมากะทันหัน โดยได้ประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยทั้งร่วมกตัญญู และ หน่วยกู้ภัยสว่างบำเพ็ญธรรมสถาน จ.ปราจีนบุรี,หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จ.ปราจีนบุรี (ปภ.) ซึ่งไม่เคยท่วมมากแบบนี้มากว่า 30 ปี
พบว่าน้ำได้ลดระดับระบายลงคลองหนองแก้ว และระบายไม่ทันได้ไหล ล้นตลิ่งเข้าสู่บ้านหนองแห้ว หมู่ 5 ต.หนองแก้ว -ขณะเดียวกันมวลน้ำป่าจากคลองประเถท – อินไตรย์ มวลน้ำป่าเขาใหญ่จาก ต.โพธิ์งามไหลระบายจากบ้านประเภทหมู่ 11 ,บ้านประคาน หมู5 ,บ้านอินไตรย์ หมู่ 6 ,บ้านโคกบ้าน – บ้านนา หมู่ 12 ต.โพธิ์งาม น้ำระบายไม่ทันเนื่องจากปริมาณน้ำมากเกินรองรับได้ล้นตลิ่งหลากเข้าท่วมหมู่บ้านหนองแห้ว หมู่ 5 ต.หนอิงแก้วเช่นกัน ส่งผลให้ทางเข้าหมู่บ้าน้ำท่วมยาวกว่า 200 เมตร ระดับน้ำลึกกว่า 1 -1.5 เมตร รถยนต์ ไม่สามารถเข้าออกได้ รวมถึงประชาชนกว่า 10 ครัวเรือนต้องติดในบ้านเหมือนติดเกาะ รวมถึงท่วมรีสอร์ทแห่งหนึ่งกลางดงป่าตาลโตนดทั้งหมด
ขณะเดียวกันมวลน้ำได้ลดระดับลงมาพื้นที่บ้านนา หมู่ 1 ต.หนองแก้ว ที่อยู่ต่อเนื่องมาด้านล่างและหมู่บ้านตั้งติดกับคลองประเถท – อินไตรย์ มวลน้ำป่าเขาใหญ่ได้หลากเข้าท่วมทั้งหมู่บ้านกว่า 20 ครอบครัวน้ำท่วมทั้งหมด ถนนทางเข้ากว่า 300 เมตรถูกน้ำไหลบ่าท่วมสูง30 -40 ซม.รถขนาดเล็กวิ่งผ่านได้
และที่หมู่บ้านเกาะกะพี้ หมู่ 3 ต.ประจันตคาม ที่ตั้งติดกับคลองหนองแก้ว ก่อนไหลรวมบรรจบกับคลอง ประเถท – อินไตรย์ เป็นคลองประจันตคาม น้ำได้บ่าอย่างแรงและรวดเร็วเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนริมคลอง รวม 25 ครอบครัว น้ำท่วมสูงกว่า 50 -70 ซม. ทางองค์การบริหารส่วนตำบลประจันตคาม(อบต.) ได้นำเต้นท์ จำนวน 2 หลังมาตั้งริมถนนสายเกาะกะพี้ – บ้านน้อย(ไทรงาม) ให้ประชาชนที่บ้านต่ำ – น้ำท่วมนำยวดยาน ,สิ่งของ ,สัตว์เลี้ยงได้พัก-หลับนอนระหว่างน้ำท่วม โดยในวันนี้ ได้มีนายสุชาติ โชติรัตน์สมาชอกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี (ส.อบต.)เขตประจันตคาม มาเยี่ยมมอบสิ่งของและให้กำลังใจ
ขณะที่ถนนสายสุวรรณศรเก่า (ประจันตคาม – กบินทร์บุรี) หรือสาย 33 บ้านคุ้ม หมู่ที่ 1 ต.โพธิ์งาม น้ำป่าเขาใหญ่ได้หลากท่วมถนนเป็นระยะทางไกลกว่า 300 – 400 เมตร ระดับน้ำลึก20 -40 ซม. ทางกรมทางหลวงได้นำไม้หลักทาสีขาว-แดงปักแนวไหล่ทาง บอกทาง ป้องกันรถตกถนน รถขนาดเล็กสามารถวิ่งผ่านได้
ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดปราจีนบุรี ( สนง.ปภ.จ.ปราจีนบุรี ) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปราจีนบุรีระบุว่า …. ได้รับรายงานจากเทศบาลตำบลโพธิ์งาม , ตำบลบุฝ้าย และ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแก้ว ( อบต. ) อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ว่า เกิดเหตุน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งไหลลงคลองช้างคลาน เอ่อล้นคลองเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร ในเขตพื้นที่ตำบลโพธิ์งาม ตำบลบุฝ้าย และตำบลหนองแก้ว อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี นั้น
วันนี้ 12 ส.ค. 65 นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี มอบหมายให้นายพิสิษฐ สิริสวัสดิ์นุกูล นายอำเภอประจันตคาม และผู้เกี่ยวข้อง ประบอบด้วย น.ส.วิภาพร กุหลาบ ผช.หน.สนง.ปภ.จ.ปราจีนบุรี ว่าที่ร.ต.ทนงศักดิ์ สุวรรณเตมีย์ หน.ฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรประจันตคาม เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จว.ปจ. ผู้แทนกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ออกตรวจติดตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
บ้านนา หมู่ที่ 1 ต.หนองแก้ว ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่นา –ดงตาลโตนด จำนวน 285 ไร่ สาเหตุเกิดจากถนนสายบ้านนา หมู่ที่ 1 ต.หนองแก้ว ตลอดระยะทาง 3 กม. มีท่อระบายน้ำ จำนวน 3 จุด การแก้ไขปัญหาอำเภอประจันตคาม จะได้จัดประชุมฯมอบหมายให้ อบต.หนองแก้ว วางท่อระบายน้ำเพิ่มเติม
ถนนทางเข้าบ้านหนองแห้ว หมู่ที่ 5 ต.หนองแก้ว การแก้ไขปัญหา อบต.หนองแก้ว จัดเรือให้บริการประชาชน จำนวน 4 ครัวเรือน ในการเดินทางเข้า-ออก เนื่องจากไม่สามารถเข้า – ออกได้ มีบ้านราษฎรด้านในกว่า 10 ครัวเรือน
ถนน อบจ.สาย ปจ21005 บริเวณฝายใต้ท่อลอดเหลี่ยม ของกรมทรัพยากรน้ำ จากการตรวจสอบปรากฏว่าท่อลอดเหลี่ยม มีจำนวนเพียง 2 ช่อง การแก้ไขปัญหาจัดประชุมแก้ไขปัญหาฯ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย อบจ.ปราจีนบุรี และสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 6 เพื่อพิจารณาเพิ่มจำนวนท่อลอดเหลี่ยม ในบริเวณดังกล่าว
พื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังบ้านนาแขม ม 3 ต.บุฝ้าย มีราษฎรได้รับผลกระทบ น้ำท่วมบริเวณชั้นล่างสูงประมาณ 15-30 ซม จำนวน 3 หลังคาเรือน สาเหตุเกิดจากโครงการแม่น้ำประจันตคาม ยกบานประตูระบายน้ำ เพื่อทำการระบายน้ำในปริมาณจำนวนมาก การแก้ไขปัญหาอำเภอประจันตคามและ สนง.ปภ.จ.ปราจีนบุรีได้แจ้งประสาน ผอ.โครงการชลประทานปราจีนบุรี ทำการลดปริมาณการระบายน้ำลง คาดว่าในเวลาประมาณ 15.00 น. หากไม่มีฝนตกในพื้นที่เพิ่มเติม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ
และ ถนนสุวรรณศร เก่า (ประจันตคาม – กบินทร์บุรี) หรือสาย 33 สาเหตุเกิดจากบริเวณริมถนน บ้านคุ้ม หมู่ที่ 1 ต.โพธิ์งาม ประชาชนถมดินสูงกว่าถนน แขวงทางหลวงปราจีนบุรี ดำเนินการปักเสาริมถนน การแก้ไขปัญหาขณะนี้อยู่ระหว่างรองบประมาณในการวางท่อระบายออกจากพื้นที่
ในการตรวจติดตามพื้นที่ดังกล่าว คณะฯได้แจ้งกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เน้นการตรวจสอบระบบแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จากน้ำป่าไหลหลาก ให้เฝ้าระวัง รับฟังการแจ้งเตือนภัย ทั้งจาก กลุ่มไลน์ หอกระจายข่าว เสียงตามสาย รวมทั้งตรวจสอบระบบการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ด้วย