รีเซต

ชาวนากลาง บุกศาลากลางโคราช ชูป้ายค้าน โรงงานแปรรูปไฟฟ้าจากขยะ

ชาวนากลาง บุกศาลากลางโคราช ชูป้ายค้าน โรงงานแปรรูปไฟฟ้าจากขยะ
ข่าวสด
7 ธันวาคม 2563 ( 16:06 )
166
ชาวนากลาง บุกศาลากลางโคราช ชูป้ายค้าน โรงงานแปรรูปไฟฟ้าจากขยะ

ชาวบ้าน ต.นากลาง กว่า 80 คน รวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านโครงการ โรงงานแปรรูปไฟฟ้าจากขยะ หวั่นนำขยะนอกพื้นที่มาทิ้ง ด้านที่ปรึกษาโครงการ ร่วมพูดคุยชี้แจงยิบ

 

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 ที่บริเวณหน้าทางเข้าอาคารศาลากลาง จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้าน ต.นากลาง อ.สูงเนิน ประมาณ 80 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมถือป้าย คัดค้านการดำเนินโครงการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าขยะ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นากลาง

 

 

โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาพบชาวบ้านก่อนเชิญขึ้นไปห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมสอบถามปัญหาและความต้องการ

  

นางปราณี พินิจโคกกรวด ชาวบ้าน บ้านนากลาง ม.1 ต.นากลาง อ.สูงเนิน ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า มูลเหตุของปัญหาเกิดจากการดำเนินโครงการไม่โปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลบางส่วนให้ชาวบ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน ในต.นากลาง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบด้านเดียว

 

ทั้งผู้บริหารอบต. เอกชนในฐานะเจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพากันงุบงิบจนกระทั่งโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แล้วเร่งดำเนินโครงการให้เสร็จเร็วที่สุดโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการขยะมูลฝอยของคนนอกพื้นที่ขนมาทิ้งในต.นากลาง

 

โดยที่ยังไม่ทราบพิกัดที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ทุกคนจึงหวาดกลัวจึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรมกับ ผวจ.นครราชสีมา ให้ใช้อำนาจสั่งการระงับการดำเนินโครงการโดยไม่มีเงื่อนไข

 

 

ด้านน.ส.ปัณฑารีย์ โชรัมย์ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.นครราชสีมา ชี้แจงว่า เมื่อช่วงต้นปี 2563 ฝ่ายปกครองอ.สูงเนิน ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 7 ครั้ง และผ่านขั้นตอนการทำประชาคมแล้ว

 

ต่อมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ที่เป็นคลัสเตอร์จัดการขยะมูลฝอย แจ้งยกเลิกการขนขยะมากำจัดที่โรงงานดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณขยะไม่เพียงพอที่กำหนดไว้วันละ 400-500 ตัน ส่งผลให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

เมื่อช่วงเดือนส.ค. กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามการอนุญาตให้ดำเนินโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างที่เป็นขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจรวมทั้งต้องจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลเป็นรายบุคคลและเปิดเผยทุกด้าน

 

นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนรับทราบปัญหาความวิตกกังวลพร้อมจะช่วยเหลือแก้ไขเยียวยาปัญหา ยืนยันโครงการนี้จะต้องทบทวนพิจารณาจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน หากท้ายที่สุดมติชาวบ้านไม่ต้องการก็จำเป็นต้องยกเลิกโครงการ

 

 

ด้านดร.ปรียาภัทร์ สมใจ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวชี้แจงว่า ภาพรวมของจ.นครราชสีมา มีขยะใหม่เกิดขึ้นวันละกว่า 2 พันตัน แต่สามารถกำจัดถูกต้องตามหลักวิชาการประมาณเพียง 1 พันตัน ส่งผลให้มีปริมาณขยะกว่า 1 พันตันตกค้าง จึงเป็นที่มาขอการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ

 

กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท กำหนดพิกัดตั้งอยู่ใน ม.5 ต.นากลาง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเมือง และจำนวนประชากร ที่ขาดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง

 

โดยจัดประชาพิจารณ์เมื่อช่วงปลายปี 2560 ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการที่ได้จากการแปรรูปขยะวันละ 400-500 ตัน มาเป็นพลังงานไฟฟ้าวันละ 7 เมกกะวัตต์ ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อนำรายได้มาจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า

 

ซึ่งชุมชนจะได้ 5 % ของค่ากำจัดที่คิดจากอปท. นำขยะมาให้กำจัดในราคาตันละ 400 บาท ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน โรงงานแห่งนี้มีระบบกำจัดที่ผ่านการเห็นชอบของกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

"เราไม่นำขยะมาเทกองบนพื้นซึ่งจะส่งกลิ่นเหม็นและสร้างผลกระทบด้านอื่น ๆ ขยะมูลฝอยทุกชิ้นจะถูกนำไปเก็บรักษาในสถานที่ปิด เพื่อรอการกำจัดที่ถูกต้อง หากมีขยะหลุดออกมากองบนพื้นที่ตามที่ชาวบ้านวิตกเรายินดีให้ปิดโรงงานทันทีและให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้" ดร.ปรียาภัทร์ กล่าวชี้แจง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง