รีเซต

อิสราเอลพัฒนา "ตัวอ่อนมนุษย์เทียม" หวังใช้เป็นอวัยวะปลูกถ่าย ยืดอายุขัยมนุษย์

อิสราเอลพัฒนา "ตัวอ่อนมนุษย์เทียม" หวังใช้เป็นอวัยวะปลูกถ่าย ยืดอายุขัยมนุษย์
TNN ช่อง16
16 สิงหาคม 2565 ( 12:54 )
112

เซลล์ต้นกำเนิด หรือรู้จักกันในชื่อ “สเต็มเซลล์” (Stem Cell) คือ หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทด้านการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นเซลล์, เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะใดในร่างกายของมนุษย์ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรคที่จำเป็นต้องใช้อวัยวะทดแทน เช่น โรคไตระยะสุดท้าย, โรคหัวใจล้มเหลว, โรคตับ เป็นต้น

ที่มาของภาพ Raw Pixel

 


ทั้งนี้ การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดอาจต้องพึ่งพาเทคนิคพิเศษในการเลี้ยงเซลล์ ให้เจริญเติบโตเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะตามที่ต้องการ ซึ่งบางครั้งการเจริญเติบโตอย่าง “ไม่เป็นธรรมชาติ” นี้ อาจทำให้เกิดความล้มเหลวในระหว่างการเพาะเลี้ยงได้ เช่น การเจริญเติบโตไปเป็นอวัยวะที่ไม่ต้องการ เป็นต้น


ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์จากบริษัทรีนิวออล ไบโอ (Renewal Bio) นำทีมโดย เจคอบ ฮานนา (Jacob Hanna) ได้นำเสนอการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหรือเอมบริโอ (Embryo) เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะตามธรรมชาติ ช่วยลดข้อผิดพลาดในระหว่างการเพาะเลี้ยงได้


ก่อนหน้านี้ฮานนาเคยทำการทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์ผิวหนังหนู จนกลายเป็นตัวอ่อนที่มาพร้อมหัวใจที่บีบตัวได้, หลอดเลือดไหลเวียน และร่องประสาทที่กำลังจะเจริญไปเป็นระบบประสาท โดยไม่ต้องพึ่งพาอสุจิจากหนูเพศผู้, ไข่จากหนูเพศเมีย หรือแม้กระทั่งมดลูกเพื่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ทั้งหมดนี้สำเร็จได้ภายในหลอดทดลอง



แต่เพื่อตอบโจทย์ในการนำมาใช้รักษาโรคในมนุษย์ ฮานนาและรีนิวออล ไบโอ ต้องการต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวเพื่อทดลองเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจากเซลล์ของมนุษย์ เช่น เซลล์ผิวหนัง หรือเซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นต้น จึงกลายเป็นที่มาของงานวิจัยล่าสุดที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้


“ตัวอ่อนเหล่านี้เปรียบเสมือนอวัยวะสามมิติที่เราพิมพ์ขึ้นมา” ฮานนากล่าว เนื่องจากคุณอาจจะเคยได้เห็นข่าวที่นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างอวัยวะขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติชีวภาพ (Bioprinting) แต่ในงานวิจัยของฮานนานี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องพิมพ์ เพียงแค่ปล่อยให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตและสร้างอวัยวะขึ้นตามธรรมชาติ (ภายใต้การดูแลในห้องทดลอง) เท่านี้ก็จะได้อวัยวะใหม่พร้อมใช้งาน



นอกจากนี้ การสร้างตัวอ่อนเทียมขึ้นมาจากเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ เพื่อสร้างอวัยวะปลูกถ่าย จะช่วยลดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่ออวัยวะปลูกถ่ายได้ เพราะใช้เซลล์ของผู้ที่ต้องการเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะเอง ดังนั้น ตัวอ่อนที่เติบโตขึ้นจะมีคุณสมบัติของเซลล์เหมือนเจ้าของเดิมทุกประการ


แต่ประเด็นสำคัญที่มักกระทบต่องานวิจัยลักษณะดังกล่าว คือ จริยธรรมในการทดลองกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งตัวอ่อนเทียมของมนุษย์ที่ฮานนากำลังทำการทดลองนี้ จะมีอายุเทียบเท่ากับตัวอ่อนจริง ๆ อายุราว 40-50 วัน โดยในช่วงนี้เซลล์ต้นกำเนิดถูกเปลี่ยนจากชนิดพลูริโพเทนต์ (Pluripotent stem cell - ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถกระตุ้นให้กลายเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้) กลายเป็นเซลล์ค้นกำเนิดที่มีความจำเพาะ หมายความว่าเซลล์เหล่านี้พร้อมจะเจริญไปเป็นอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้แล้ว


ขั้นตอนการสร้างตัวอ่อนเทียม
ที่มาของภาพ Renewal Bio

 


ปัญหาด้านจริยธรรมจะเกิดขึ้นเมื่อโดยเฉพาะกรณีที่ตัวอ่อนเริ่มพัฒนาระบบประสาท จนสามารถรับรู้ความรู้สึกจากภายนอกได้ (แม้หัวใจจะสูบฉีดเลือดได้แล้ว แต่หากยังไม่สามารถรับความรู้สึกได้ อาจจัดได้ว่าตัวอ่อนนี้ยังไม่มีความรู้สึกนึกคิดใด ๆ) หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า ตัวอ่อนนี้ยังไม่ควรที่จะพัฒนาสมองให้กลายเป็นรูปร่าง มิเช่นนั้นอาจผิดต่อหลักจริยธรรม ในขณะที่การทดลองกับตัวอ่อนเทียมจากผิวหนังหนู ตัวอ่อนเพิ่งพัฒนาร่องประสาทยังไม่ได้กลายเป็นระบบประสาทเต็มขั้น จึงอาจจะพิจารณาไม่เข้าข่ายเรื่องจริยธรรมต่อสิ่งมีชีวิต


ในยุคที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ฮานนาเชื่อว่าการทดลองของเธอจะช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาว ผู้สูงอายุจะยังคงร่างกายแข็งแรงและอาจจะยังทำงานได้ไม่ต่างจากวัยทำงาน รวมถึงการทดลองนี้อาจช่วยรักษาโรคบางชนิดที่มีมาตั้งแต่กำเนิดได้ด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ข่าวที่เกี่ยวข้อง