รีเซต

ราคาน้ำมันดิบยังสูงเพราะความต้องการใช้มาก หลังราคาก๊าซธรรมชาติ-ถ่านหินพุ่ง

ราคาน้ำมันดิบยังสูงเพราะความต้องการใช้มาก หลังราคาก๊าซธรรมชาติ-ถ่านหินพุ่ง
มติชน
25 ตุลาคม 2564 ( 11:52 )
121

เกาะติดราคาน้ำมันดิบยังสูงต่อเนื่อง หลังราคาก๊าซธรรมชาติ-ถ่านหินพุ่ง หนุนความต้องการใช้น้ำมัน

บทวิเคราะห์สถาการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ระบุว่า ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 82-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 84-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 – 29 ต.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่อง หลังราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หนุนให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบอยู่ในภาวะตึงตัว สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการผลิตได้ปกติอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากการพัดถล่มของพายุเฮอริเคนไอดา

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
-กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 เป็นขยายตัว 5.9% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 6.0% ในรายงานเดือน ก.ค.64 โดยเป็นการปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจากเดิมขยายตัว 7.6% เป็นขยายตัว 6.5% ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ประกอบกับปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานการผลิตและปัญหาภาวะเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเสี่ยง กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย ส่วนตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปี 2565 IMF คงประมาณการเดิมที่ขยายตัว 4.9%

 

-ความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสในเดือน ก.ย. 64 อยู่ที่ระดับ 115% โดยบางประเทศสมาชิกไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตตามเป้าหมายได้ อาทิเช่น แองโกลา และ ไนจีเรีย เนื่องจากปัญหาจากการลงทุนและการซ่อมบำรุงการผลิต โดยกลุ่มโอเปกพลัสมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย. 64 แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวต่อเนื่อง และสหรัฐฯ มีการเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมัน ทั้งนี้กลุ่มโอเปกพลัสจะมีการหารือถึงแผนการผลิตในเดือน ธ.ค. 64 ในการประชุมกลุ่มวันที่ 4 พ.ย. 64

 

-เจ้าชายอับดูลา ซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุฯ ออกมาเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยอาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นราว 5-6 แสนบาร์เรลต่อวันได้ในช่วงฤดูหนาว

 

-ในรายงานฉบับเดือน ต.ค. 64 ของ IEA ปรับเพิ่มปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2564 ราว 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากรายงานเดือน ก.ย. 64 แตะระดับ 96.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยการปรับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกได้มีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูง หนุนการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงมาเป็นการใช้น้ำมัน ส่วนปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 99.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2564

 

-กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มเพื่อตอบรับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัว โดย IEA คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตของโรงกลั่นโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 79.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 4/64 จาก 77.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 3/64 โดยเพิ่มขึ้นมากจากโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย และอเมริกา สอดคล้องกับทางนักวิเคราะห์จาก FGE ที่คาดการณ์ว่ากำลังผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็น 29.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 4/64 จาก 29.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3/64 โดยได้รับแรงหนุนจากการคลายล็อคดาวน์ในหลายประเทศ

 

-ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ต.ค. 64 ปรับตัวลดลง 0.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 426.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล ส่วนกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ลดลง 2% หรือราว 71,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี

 

-หลังสถานการณ์ราคาถ่านหินอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หน่วยงาน The National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนกำลังศึกษาและเตรียมออกนโยบายควบคุมราคาถ่านหิน รวมถึงมาตรการแทรกแซงราคาถ่านหิน และมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาวิกฤตพลังงานในประเทศ โดยหน่วยงาน NDRC ยืนยันจะทำให้ปริมาณการผลิตถ่านหินในประเทศจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับอย่างน้อย 12 ล้านตันต่อวัน ซึ่งจะสามารถช่วยลดราคาถ่านหินลงได้

 

-ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 64 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่การผลิตปรับลดกว่า 7% จากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิต นอกจากนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาส 3/64 ขยายตัว 4.9% ซึ่งขยายตัวลดลงจาก 7.9% ในไตรมาส 2/64 จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีน รวมถึงการหยุดดำเนินการผลิตของหลายโรงงานจากภาวะขาดแคลนไฟฟ้า กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและชะลอการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน

 

-เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจดอกเบี้ยของธนาคารญี่ปุ่น และธนาคารกลุ่มยูโรโซน จีดีพีสหรัฐฯไตรมาส 3/64 ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มยูโรโซนเดือน ต.ค. 64

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 22 ต.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าและในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ของตลาดน้ำมันดิบที่อยู่ในภาวะตึงตัว จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นหลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับขึ้น 10 แท่น แตะระดับ 543 แท่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง