สกู๊ปพิเศษ : เปิดราคาตลาดนักเตะ 'วูบ' เพราะ 'โควิด'
มติชน
5 มิถุนายน 2563 ( 06:30 )
135
1
สกู๊ปพิเศษ : เปิดราคาตลาดนักเตะ ‘วูบ’ เพราะ ‘โควิด’
ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว การย้ายทีมของ เนย์มาร์ กองหน้าซุปเปอร์สตาร์ชาวบราซิเลียนจาก บาร์เซโลน่า สู่ ปารีส แซงต์แชร์แมง ได้เปลี่ยนแปลงตลาดซื้อขายนักเตะไปอย่างสิ้นเชิง
ครั้งนั้น เปแอสเชที่มีกลุ่มทุนจากกาตาร์เป็นเจ้าของ ทุ่มเงินมหาศาลถึง 222 ล้านยูโร (7,881 ล้านบาท) เป็นค่าฉีกสัญญาเนย์มาร์ จากที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะมีสโมสรบ้าระห่ำยอมจ่ายเงินสูงขนาดนั้นเพื่อนักเตะคนเดียว
การซื้อขายดังกล่าวส่งให้เนย์มาร์กลายเป็นเจ้าของสถิตินักฟุตบอลค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ และสมดุลของตลาดซื้อขายก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเริ่มมีการอิงเรตราคาของเนย์มาร์เข้ากับนักเตะคนอื่นๆ
นักเตะฝีเท้ากลางๆ คนหนึ่ง จากเมื่อก่อนที่เราคุ้นเคยกันว่าค่าตัวน่าจะอยู่ที่ราว 15 ล้านปอนด์ (600 ล้านบาท)
หลังยุคซื้อขายเนย์มาร์ ทำให้เรตราคาของนักเตะระดับนี้ขึ้นไปอยู่ที่ราว 35 ล้านปอนด์ (1,400 ล้านบาท)
ขณะที่นักเตะเกรดดีถึงดีมาก จะซื้อขายกันทีแทบจะคุยราคาต่ำกว่า 100 ล้านปอนด์แทบไม่ได้แล้ว ทำเอาหลายทีมระบุเงื่อนไขฉีกสัญญาไว้สูงลิบ เผื่อว่าจะมีมหาเศรษฐีทีมไหนบ้าเลือดควักกระเป๋าจ่ายขึ้นมาบ้าง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในปัจจุบัน กำลังจะทำให้สมดุลของตลาดซื้อขายนักเตะเปลี่ยนไปอีกครั้ง เนื่องด้วยผลจากการหยุดชะงักของวงการลูกหนังทั่วโลก ทำให้ทีมต่างๆ สูญเสียรายได้กันถ้วนหน้า
ที่แน่ๆ คือไม่มีรายได้จากการขายตั๋วชมการแข่งขัน รวมถึงสินค้าต่างๆ ในช่วงที่ควรจะมีผู้ชมอยู่ในสนาม ยิ่งบางลีกที่ตัดจบไปแล้ว หรือเลื่อนการแข่งขัน ก็ทำให้สูญเสียรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอด เนื่องจากผิดสัญญาที่ทำไว้ตอนแรก
บางสโมสรต้องเลือกพักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเตรียมทีม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ขณะที่นักเตะในหลายลีกยอมลดค่าเหนื่อยของตัวเองมากบ้างน้อยบ้าง ในช่วง 2-4 เดือนที่เกมลีกได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยให้ต้นสังกัดพยุงสถานะการเงินจนก้าวต่อไปได้
จาก 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ลีกเอิง ฝรั่งเศส ชิงตัดจบไปตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนหลังโดนแรงกดดันจากภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลจะไม่อนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬาจนกว่าจะถึงเดือนกันยายน
ขณะที่ บุนเดสลีก้า เยอรมนี กลับมาเตะได้ 2 สัปดาห์เศษแล้ว เป็นแนวทางให้ลีกอื่นๆ ของยุโรปดำเนินรอยตาม
เมื่อต้นเดือนเมษายน เว็บไซต์ transfermarkt ซึ่งเป็นเว็บประเมินมูลค่านักเตะที่หลายสื่อให้เครดิต วิเคราะห์สถานการณ์ว่า เมื่อสโมสรต่างๆ มีรายได้ลดลง ค่าตัวนักเตะก็จะลดลงตามไปด้วย เบื้องต้น ทางเว็บ transfermarkt จึงลดมูลค่านักเตะลง 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นักเตะซึ่งเกิดปี 1998 หรือหลังจากนั้น ลดมูลค่าลง 10 เปอร์เซ็นต์
ส่งผลให้มูลค่านักเตะรวมในตลาดซื้อขายลดลง 9,220 ล้านยูโร (3.27 แสนล้านบาท)
กรณีของพรีเมียร์ลีก นักเตะที่มีราคาประเมินสูงสุดที่ทางเว็บประเมินไว้คือ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง กองหน้าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ พอเจอพิษโควิดเข้าไป มูลค่าของเขาลดลงจาก 160 ล้านยูโร (5,680 ล้านบาท) ส่วนแบ๊กดาวรุ่งลิเวอร์พูลอย่าง เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ มูลค่าลดลงจาก 110 ล้านยูโร (3,905 ล้านบาท) เหลือ 99 ล้านยูโร (3,514.5 ล้านบาท)
ขณะที่ เจดอน ซานโช่ แนวรุกเนื้อหอมของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ความที่อายุยังน้อย ฟอร์มยิ่งดีวันดีคืน ถึงค่าตัวประเมินจะลดจาก 130 ล้านยูโร (4,615 ล้านบาท) เหลือ 117 ล้านยูโร (4,153.5 ล้านบาท) ก็ยังถือว่าสูงอยู่ดี
ส่วนแข้งเทพ ลิโอเนล เมสซี่ ของบาร์เซโลน่า ลดมูลค่าจาก 140 ล้านยูโร (4,970 ล้านบาท) เหลือ 112 ล้านยูโร (3,976 ล้านบาท)
ล่าสุด เดอะ ซัน สื่อจอมแฉของเมืองผู้ดี ได้คำนวณค่าตัวนักเตะโดยเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกรณีลีกที่ผู้เล่นคนนั้นๆ สังกัดยกเลิกหรือแข่งต่อจนจบ สรุปอันดับท็อป 10 นักเตะค่าตัวแพงที่สุดในโลก ดังนี้
1.คีเลียน เอ็มบัปเป้ (ปารีส แซงต์แชร์แมง) อายุ 21 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 200 ล้านปอนด์ (80,000 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 158 ล้านปอนด์ (6,320 ล้านบาท) ลดลง 21.5 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 167 ล้านปอนด์ (6,680 ล้านบาท) ลดลง 16.6 เปอร์เซ็นต์
2.เนย์มาร์ (ปารีส แซงต์แชร์แมง) อายุ 28 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 156 ล้านปอนด์ (6,240 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 122 ล้านปอนด์ (4,880 ล้านบาท) ลดลง 21.7 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 133 ล้านปอนด์ (5,320 ล้านบาท) ลดลง 14.7 เปอร์เซ็นต์
3.ราฮีม สเตอร์ลิ่ง (แมนเชสเตอร์ ซิตี้) อายุ 25 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 134 ล้านปอนด์ (5,360 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 115 ล้านปอนด์ (4,600 ล้านบาท) ลดลง 13.8 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 119 ล้านปอนด์ (4,760 ล้านบาท) ลดลง 10.5 เปอร์เซ็นต์
4.ลิโอเนล เมสซี่ (บาร์เซโลน่า) อายุ 32 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 156 ล้านปอนด์ (6,240 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 113 ล้านปอนด์ (4,520 ล้านบาท) ลดลง 27.5 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 119 ล้านปอนด์ (4,760 ล้านบาท) ลดลง 23.2 เปอร์เซ็นต์
5.โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (ลิเวอร์พูล) อายุ 27 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 138 ล้านปอนด์ (5,520 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 110 ล้านปอนด์ (4,400 ล้านบาท) ลดลง 19.8 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 117 ล้านปอนด์ (4,680 ล้านบาท) ลดลง 15.6 เปอร์เซ็นต์
6.เจดอน ซานโช่ (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์) อายุ 20 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 124 ล้านปอนด์ (4,960 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 108 ล้านปอนด์ (4,320 ล้านบาท) ลดลง 13.4 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 113 ล้านปอนด์ (4,520 ล้านบาท) ลดลง 8.5 เปอร์เซ็นต์
7.ซาดิโอ มาเน่ (ลิเวอร์พูล) อายุ 28 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 126 ล้านปอนด์ (5,040 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 103 ล้านปอนด์ (4,120 ล้านบาท) ลดลง 17.3 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 110 ล้านปอนด์ (4,400 ล้านบาท) ลดลง 12.9 เปอร์เซ็นต์
8.แฮร์รี่ เคน (ท็อตแนม ฮอตสเปอร์) อายุ 26 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 120 ล้านปอนด์ (4,800 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 100 ล้านปอนด์ (4,000 ล้านบาท) ลดลง 16.7 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 104 ล้านปอนด์ (4,160 ล้านบาท) ลดลง 13 เปอร์เซ็นต์
9.เควิน เดอ บรอยน์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้) อายุ 28 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 116 ล้านปอนด์ (4,640 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 88 ล้านปอนด์ (3,520 ล้านบาท) ลดลง 24 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 110 ล้านปอนด์ (4,400 ล้านบาท) ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์
10.มาร์คัส แรชฟอร์ด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) อายุ 22 ปี ค่าตัวก่อนล็อกดาวน์ 97 ล้านปอนด์ (3,880 ล้านบาท) / ค่าตัวกรณีลีกยกเลิก 85 ล้านปอนด์ (3,400 ล้านบาท) ลดลง 11.4 เปอร์เซ็นต์ / ค่าตัวกรณีลีกไม่ยกเลิก 90 ล้านปอนด์ (3,600 ล้านบาท) ลดลง 6.7 เปอร์เซ็นต์
จากการประเมินเบื้องต้น ยิ่งนักเตะอายุมาก ยิ่งได้รับผลกระทบจากโควิดสูง เพราะมูลค่าจะลดลงในสัดส่วนที่มากกว่านักเตะอายุน้อยๆ
ทีมที่มีนักเตะอายุเฉลี่ยสูงๆ ยิ่งจะได้รับผลกระทบหนักในระยะยาว เพราะนอกจากจะสูญเสียรายได้หลักของตัวเอง จะหวังขายผู้เล่นหาทุนก็ยากกว่าเก่า เพราะมูลค่านักเตะโดยรวมลดลงแล้ว
ยิ่งสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อมากเท่าไร ตลาดลูกหนังก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น