แม่น้ำสายนี้มีชีวิต เป็นนิติบุคคล ชนเผ่าเมารีนับถือเสมือนบรรพบุรุษ
แม่น้ำสายนี้มีชีวิต เป็นนิติบุคคล ชนเผ่าเมารีนับถือเสมือนบรรพบุรุษ
แม่น้ำสายนี้มีชีวิต - ซีเอ็นเอ็น รายงานเจาะลึกเรื่องราวที่นิวซีแลนด์ ตรากฎหมายให้แม่น้ำวางกานูอี แม่น้ำที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 3 ความยาว 290 กิโลเมตร และเป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตของชาวเมารีมาหลายร้อยปี มีสถานะเป็นนิติบุคคล เป็นแม่น้ำสายแรกในโลกที่มีสถานะนี้
ชาวเมารีอยู่ร่วมกับแม่น้ำที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิตและนับถือแม่น้ำวางกานูอีว่าเป็นเสมือน “บรรพบุรุษ”
https://youtu.be/dzR-lcCfR3I
“วางกานูอี” แปลว่า “ท่าเรือใหญ่” ในภาษาเมารี ชาวพื้นเมืองถือว่าแม่น้ำเป็นหนึ่งเดียว เป็นนิติบุคคลที่แบ่งแยกไม่ได้และไม่มีใครเป็นเจ้าของ จนมีภาษิตของชาวเมารีว่า “ฉันเป็นแม่น้ำและแม่น้ำคือฉัน”
แต่เมื่อชาวอังกฤษมายึดครองนิวซีแลนด์เป็นอาณานิคมเมื่อ 200 ปีก่อน ความเจริญทางวัตถุมาพร้อมกับมลภาวะที่เกิดจากการพัฒนาเมืองในละแวกแม่น้ำวางกานูอีทำให้มีขยะลอยเกลื่อนแม่น้ำ ที่ดินถูกชาวแผ้วถางและชาวเมารีถูกขับไล่ให้ไปอยู่ที่ใหม่ห่างไกลจากแม่น้ำเพื่อหลีกทางให้การพัฒนา
ปีค.ศ.1840 (พ.ศ. 2383) นักธุรกิจชาวอังกฤษคนหนึ่งกว้านซื้อที่ดินแสนกว่าไร่แลกกับสินค้า รวมทั้ง ปืนคาบศิลา ร่มและเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นการทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมและยังใช้กำลังยึดที่ดินส่วนอื่นๆ มาจากชาวเมารี
ผู้ที่มาใหม่จากประเทศเจ้าอาณานิคมมีความคิดต่อ “แม่น้ำ” แตกต่างจากชาวเมารีอย่างสิ้นเชิงเพราะกฎหมายอังกฤษถือว่าแม่น้ำไม่ได้เป็นนิติบุคคล อีกทั้งยังแยกกฎหมายเกี่ยวกับน้ำ ท้องน้ำ และอากาศเหนือผืนน้ำเป็นคนละฉบับกัน
ผู้มาใหม่มาอาศัยในแถบแม่น้ำวางกานูอียังไม่ได้ให้การเคารพแม่น้ำเหมือนกับชาวเมารีทำให้มีขยะลอยเกลื่อน สิ่งปฏิกูลหมักหมมโสโครก แม่น้ำมีสภาพย่ำแย่ ไม่มีปลาแหวกว่ายเหมือนเดิมและสัตว์หลายสปีชีส์หายไป แม่น้ำไม่ได้เป็นแหล่งอาหารของชาวเมารีอีกต่อไปเพราะน้ำเสียจากฟาร์มริมแม่น้ำไหลลงมาปนเปื้อนน้ำ
จนกระทั่ง เมื่อ 150 ปีก่อน ชาวเมารีลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโดยยื่นคำร้องถึงรัฐบาลอาณานิคมเพื่อส่งเสริมสิทธิของชาวเมารี
หลังจากนั้น อีกหลายสิบปีต่อมา ก็ยังมีคำร้องเรียนส่งถึงรัฐบาลนิวซีแลนด์ในกรุงเวลลิงตัน
ขณะที่หัวหน้า ชนเผ่าเมารี หรือ อีวิ ลงนามข้อตกลงที่เรียกว่า ทรัพย์สินของไวทังกิกับราชินีอังกฤษซึ่งเป็นการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าชาวเมารีเป็นเจ้าของดินแดนและมีสิทธิคุ้มครองชาวอังกฤษในดินแดนอาณานิคม
เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ความพยายามของชาวเมารีเริ่มเห็นทางสว่าง หลังจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ตั้งศาลไวทิงกิขึ้นมาใน ปี 2518 เพื่อรับฟังความไม่พอใจของชาวเมารี รวมทั้ง ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2383 ไปจนถึงช่วงเวลาที่ชาวอังกฤษยึดที่ดินของชาวเมารี
ชาวเมารีวัยต่างๆ พากันขึ้นให้การในศาล แต่คำให้การไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการทั้งหมดและชาวเมารีบางคนไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ อีกทั้ง ไม่มีบันทึกว่ามีการแปลภาษาในศาล
ต่อมา ในปี 2542 ศาลสั่งให้แม่น้ำเป็นสมบัติของชาวเมารีในวางกานูอิ แต่ชาวเมารีไม่มีสิทธิตามกฎหมายต่อแม่น้ำ
ล่วงถึงปี 2551 ผู้แทนชาวเมารีต้องการให้แก้ไขกฎหมายที่ให้สิทธิชาวเมารีร่างกรอบกฎหมายเองเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำมีความหมายต่อชาวเมารีมากเพียงใดและเริ่มมีการพูดคุยกันในหมู่ชาวเมารีถึงสิทธิของแม่น้ำว่าควรจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับบุคคล
ในที่สุด การต่อสู้ยุติลงเมื่อปี 2560 โดยศาลสั่งให้แม่น้ำวางกานูอีได้รับการประกาศสถานะให้เป็น “บุคคล” ทำให้กลายเป็นแม่น้ำแรกของโลกที่เป็นบุคคลตามกฎหมายและชาวเมารีแต่งตั้งผู้พิทักษ์ 2 คน ให้มีอำนาจพูดแทนแม่น้ำ
แม้กฎหมายรับรองสถานะแม่น้ำให้เป็นบุคคลบังคับใช้มาได้ 3 ปีแล้ว แต่ยังมีปัญหาบางประการ เช่น ผู้พิทักษ์แม่น้ำไม่ได้ปรึกษากับชาวเมารีถึงแผนที่จะสร้างสะพานสำหรับจักรยานข้ามแม่น้ำเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างเพิ่ม
ขณะที่ชาวเมารีเองไม่ต้องการชี้นำ เพียงแต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและต้องการการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา
////////////