รีเซต

รักษ์โลก รักการลงทุน รักธีม Sustainable Energy?

รักษ์โลก รักการลงทุน รักธีม Sustainable Energy?
มติชน
24 ตุลาคม 2564 ( 13:00 )
55
รักษ์โลก รักการลงทุน รักธีม Sustainable Energy?

วิกฤตการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับ “ชาวโลก” แต่สำหรับ “โลก” เหตุการณ์นี้กลับมีข้อดี เพราะโควิดบังคับมนุษย์ให้ต้อง “ปิดเมือง” เปลี่ยนพฤติกรรม การปล่อยคาร์บอนจึงลดลงอย่างชัดเจน

 

แม้การ “เปิดเมือง” อาจหมายความว่าชีวิตคนเมืองส่วนใหญ่จะกลับสู่ปกติ แต่เชื่อแน่ว่าวิกฤตที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงแนวคิดให้หลายคนกล้าที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ผมชวนมองผ่านเลนส์ Thematic Investor ว่านักลงทุนควรวางบทบาทธีม Sustainable Energy หรือ “ธีมพลังงานรักษ์โลก” ที่คาดว่าจะมีบทบาทสูงกับการใช้ชีวิตแบบใหม่นี้อย่างไร ไปจนถึงวิเคราะห์ว่าความเสี่ยงและโอกาสของธีมในปัจจุบัน

 

สิ่งแรกที่หนุนให้ธีม Sustainable Energy สำคัญ แน่นอนว่าคือนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลทั่วโลก

ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ Paris Agreement ปี 2016 กับเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสต่อปี

 

การจะไปถึงจุดนั้นได้ ทั่วโลกต้องร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียง 45% ของปี 2010 ภายในปี 2030 และต้องพัฒนาต่อให้เป็นกลางด้านคาร์บอน (Net Carbon Neutral) ให้ได้ภายในปี 2050

 

ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงการสนับสนุนของรัฐบาลทั่วโลกจะมีความต่อเนื่องไปอย่างน้อย 10-30 ปี

อย่างไรก็ดี สังคมส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดและไม่เร่งรีบที่จะปรับพฤติกรรม

 

ประเด็นเรื่องการตอบรับจากสังคมเป็นเรื่องที่ต้องติดตามหลังวิกฤต

เพราะกิจกรรมรักษ์โลกในปัจจุบันไม่ได้สะดวกสบาย ประหยัด หรือจับต้องได้ง่าย

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องใกล้ตัวอย่างการเดินทาง (คิดเป็นเพียง 15% ของการสร้างคาร์บอนในปัจจุบัน) แค่เริ่มต้นว่าต้องเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด หลายคนก็รู้สึกถึงต้นทุนที่แพงหรือความไม่สะดวกแล้ว ในความจริงยังมีประเด็นว่าไฟฟ้านั้นมาจากแหล่งที่มาที่รักษ์โลกหรือไม่ด้วย

 

เมื่อทั้งยากและไม่ได้เห็นผลชัด สังคมก็มักรอให้ระบบเปลี่ยน มากกว่าที่จะเปลี่ยนตัวเอง

และจุดอ่อนสำคัญที่สุดของธีมอยู่ที่ภาคธุรกิจที่มีหลายข้ออ้าง

 

เหตุผลที่ยกขึ้นมาโต้แย้งมีตั้งแต่

เทคโนโลยีไม่ชัดเจนว่าอะไรที่จะสามารถแก้ไขปัญหาพลังงานได้ในวงกว้าง

 

อุตสาหกรรมบางอย่างจำเป็นต้องใช้ความร้อนจากพลังงานในแบบเดิม

หรือโครงสร้างอุตสาหกรรมปัจจุบันยังใช้งานได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนใหม่ทันที

 

รายงานของ Citi GPS เรื่อง Hard-to-abate Sectors and Emissions ชี้ว่ามีถึง 25% ของการใช้พลังงานในปัจจุบันที่ยากจะเปลี่ยนแม้ในอีก 30 ปีข้างหน้า เช่น กลุ่มการบิน ก่อสร้าง หรือการผลิตวัสดุก่อสร้าง

 

หมายความว่าภาคอุตสาหกรรมยังมีข้อจำกัดทั้งแนวคิด เทคโนโลยี และการทำกำไร จำเป็นที่จะต้องมีภาครัฐสนับสนุนด้วยการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การทำธุรกิจเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมกับโลก

 

Sustainable Energy จึงเป็นธีมระยะยาวที่เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ และรู้ว่าอยากเติบโตไปกับกิจกรรมรักษ์โลกประเภทไหนเป็นหลัก

 

สำหรับนักลงทุน โอกาสในธีม Sustainable Energy แบ่งได้เป็นสามรูปแบบ

หนึ่ง ลงทุนธุรกิจที่ใช้คาร์บอนต่ำ

 

เป็นรูปแบบการลงทุนที่ผันผวนน้อยที่สุดในธีม ตัวอย่าง ETF ที่น่าสนใจเช่น CRBN (iShares MSCI ACWI Low Carbon Target) หรือ LOWC (SPDR MSCI ACWI Low Carbon Target) ที่ตั้งเป้าหมายลงทุน Passive ตามดัชนีด้วยบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนด์ต่ำ

 

สอง ลงทุนในสินทรัพย์หรือเทคโนโลยีพื้นฐานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

เช่น HYDR (Global X Hydrogen) TAN (Invesco Solar) FAN (First Trust Global Wind Energy) หรือ INRG (iShares Global Clean Energy)

 

จุดแข็งของ ETF ในกลุ่มนี้คือมีความเก่งเฉพาะด้าน สามารถ disrupt และอาจถูก disrupt ได้ตลอดจึงมีความผันผวนสูง ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอุตสาหกรรม Materials และ Energy เดิมด้วย

และสาม ลงทุนในบริษัทที่ค้นคว้าและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้าน Sustainable Energy

 

นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนจากการหาบริษัทที่เป็นผู้นำในธีมได้ เช่น บริษัท Tesla (TLSA) ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่ามี ETF นโยบายลงทุนทั่วโลกถึงกว่า 252 ETF ที่ถือหุ้น TLSA อยู่

เมื่อเรากรองเอาเฉพาะ ETF ที่ตั้งเป้าหมายด้าน Sustainable Energy ก็จะเจอ SMOG (VanEck Low Carbon Energy) หรือ BATT (Amplify Lithium & Battery Technology) ที่ลงทุนใน TLSA 8-10%

 

ท้ายที่สุด ถ้าเทียบกับ Thematic Investing อื่น Sustainable Energy คือธีมที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจสูงที่สุดธีมหนึ่ง

ผมรวบรวม 10 ETF ปัจจุบันที่โดดเด่นในธีมพลังงานรักษ์โลก หาค่าเฉลี่ยของ Financial Ratio พื้นฐาน พบว่ามี fundamental “ไม่ถูก” เช่นมี PE เฉลี่ยราว 50x และ PCF เฉลี่ย 22x ส่วนความผันผวนจะอยู่ที่ 25-40% ถือว่าสูงกว่า Hyper-growth Thematic ทั่วไป

 

จุดที่น่าสนใจคือธีม Sustainable Energy จะมีความสัมพันธ์กับบอนด์ยีลด์สูง คาดว่าเกิดจากมุมมองตลาดที่เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ต้องกู้มาลงทุน ถ้าธุรกิจดี ก็จะกู้ได้จ่ายได้ในระดับยีลด์ที่สูงขึ้น

สไตล์โดยรวมจึงถือเป็น Small-cap Cyclical Growth โดดเด่นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

 

สรุป ผมมองว่าธีมพลังงานรักษ์โลกหรือ Sustainable Energy เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เชื่อมั่นภาครัฐ ต้องการสนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องไม่ลืมที่จะประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ขณะที่สัดส่วนการลงทุน ก็ไม่ควรเกิน 10% ของพอร์ตครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์
และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนสายพัฒนาธุรกิจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง