รู้ทัน “พายุฤดูร้อน” เกิดอย่างไร? รับมือแบบไหน?

ช่วงนี้ประเทศไทยเผชิญพายุฤดูร้อนบ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก พายุฤดูร้อน (Summer Storm) มักเกิดในเดือนเมษายนหรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนอบอ้าวและมีความชื้นในอากาศสูง พื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมักได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากแสงอาทิตย์ที่ส่องแรงทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำและอากาศร้อนชื้นลอยตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆที่ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
หากมีมวลอากาศเย็นจากแผ่นดินใหญ่เคลื่อนตัวลงมาปะทะกับมวลอากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้น จะเกิดการหมุนเวียนอย่างรุนแรงในแนวดิ่ง จนนำไปสู่พายุฤดูร้อนที่มาพร้อมลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และฝนตกหนักในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน
ก่อนพายุมา
- ติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินไว้
- หลีกเลี่ยงพื้นที่สูง เช่น ยอดเขา เสาไฟฟ้า หรือที่โล่งแจ้ง
ขณะเกิดพายุ
- หาที่หลบภัยในอาคารที่ปิดมิดชิด ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด
- หากอยู่กลางแจ้ง ให้หาที่ต่ำ หมอบลงโดยใช้ปลายเท้าทรงตัว ห้ามนอนราบกับพื้น
- อยู่ให้ห่างจากวัตถุที่สามารถนำไฟฟ้า เช่น รั้วลวด สายไฟ และผนังคอนกรีต
หลังพายุผ่านไป
- อย่าเพิ่งออกนอกอาคาร จนกว่าจะผ่านไปอย่างน้อย 30 นาทีหลังเสียงฟ้าร้องสุดท้าย
- ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหากมีพายุฟ้าคะนองคาดการณ์ไว้
พายุฤดูร้อนแม้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น แต่สามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรง การรู้เท่าทันและเตรียมตัวให้พร้อมคือเกราะป้องกันที่ดีที่สุด