รีเซต

Editor’s Pick: จีน-ตาลีบัน ภัยคุกคามจากการค้ายาเสพติด หรือสงครามฝิ่นจะปะทุขึ้นอีกครั้ง?

Editor’s Pick: จีน-ตาลีบัน ภัยคุกคามจากการค้ายาเสพติด หรือสงครามฝิ่นจะปะทุขึ้นอีกครั้ง?
TNN World
27 สิงหาคม 2564 ( 11:00 )
189
Editor’s Pick: จีน-ตาลีบัน ภัยคุกคามจากการค้ายาเสพติด หรือสงครามฝิ่นจะปะทุขึ้นอีกครั้ง?
 
“ฝิ่น” รายได้หลักของตาลีบัน
 
 
รายงานจากหลายแหล่ง ระบุว่า ฝิ่นยังคงเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มตาลีบัน และมีแนวโน้มว่าจะยังเป็นเช่นนั้น เมื่อนานาประเทศจ่อคว่ำบาตรกลุ่มตาลีบัน ทำให้ฝิ่นอาจกลายเป็นแหล่งทำเงินเดียวที่หลงเหลืออยู่
หวัง จิงกั๋ว ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยหลานโจว กล่าวกับสำนักข่าว Xinhua ไว้ว่า หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน หน่วยงานต่อต้านยาเสพติดของจีน ต้องเน้นย้ำเรื่องการป้องกันยาเสพติดจากอัฟกานิสถาน ที่อาจหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจีนอีกครั้ง
 
 
ในอดีต เส้นทางหลักในการขนส่งเฮโรอีน จากอัฟกานิสถานเข้าสู่ประเทศจีน ต้องผ่านปากีสถาน และมณฑลซินเจียงทางตะวันตกของจีน
 
 
 
ดอกฝิ่นผลิบานทั่วอัฟกานิสถาน
 
 
เมื่อเดือนมิถุนายน สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ระบุว่า อัฟกานิสถานเป็นแหล่งเพาะปลูกฝิ่นที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งคาดกันว่า ฝิ่นและเฮโรอีนกว่า 80% ที่กระจายไปทั่วโลก มาจากที่แห่งนี้
 
 
ปี 2019 อัฟกานิสถานสร้างรายได้จากการขายฝิ่นราว 1,200-2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 39,240 ถึง 68,895 ล้านบาท)
 
 
ขณะที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ปี 2020 กลุ่มตาลีบันเก็บภาษีจากผู้ปลูกฝิ่นได้ประมาณ 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 15,047 ล้านบาท) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าตาลีบัน ทำกำไรมหาศาลจากการค้าขายฝิ่น
 
 
 
 
คำสัญญาหรือแค่ลมปาก
 
 
นับตั้งแต่ตาลีบันเข้ายึดครองกรุงคาบูลและอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันให้คำมั่นว่า รัฐบาลใหม่จะไม่เปลี่ยนอัฟกานิสถาน ให้กลายเป็นรัฐยาเสพติด
 
 
ทั้งนี้ จู หยงเปียว ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยหลานโจว กล่าวว่า หากตาลีบันรักษาคำมั่นที่จะขจัดยาเสพติดในประเทศ กลุ่มตาลีบันอาจต้องดิ้นรนอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อสูญเสียความช่วยเหลือจากนานาประเทศ อีกทั้ง ยังมีโอกาสที่จะถูกคว่ำบาตร ทำให้สถานะการเงินของกลุ่มตาลีบันอาจตึงมือยิ่งขึ้น
 
 
“ผมไม่คิดว่าการที่รัฐบาลสั่งห้าม จะแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ หรืออีกแง่ก็คือ เป็นไม่ได้ที่จะแก้ไขปัญหาพวกนี้ในเวลาสั้น ๆ” จู กล่าว
 
 
 
สหรัฐฯ ยึดทรัพย์ตัดกำลังตาลีบัน
 
 
ข้อมูลจากธนาคารโลก พบว่า ปี 2020 เงินช่วยเหลือจากทั่วโลก ถือเป็น 42.9% ของ GDP ในอัฟกานิสถาน หรือคิดเป็นเงิน 19,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 648,162 ล้านบาท)
 
 
ขณะที่ Reuters รายงานว่า การประชุม G7 จะหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในอัฟกานิสถาน ซึ่งคาดการณ์ว่า ผู้นำจากนานาประเทศ จะพิจารณาเรื่องการคว่ำบาตรกลุ่มตาลีบันอีกครั้ง
 
 
อัฟกานิสถาน เป็นประเทศที่ใช้เงินสดเป็นหลัก ซึ่ง “อัฟกานี” สกุลเงินของอัฟกานิสถาน หมุนเวียนโดยการถ่ายโอนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากต่างประเทศ ไปยังธนาคารกลางของอัฟกานิสถาน เป็นประจำทุก 2-3 สัปดาห์ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ค่าเงินของอัฟกานิสถานอาจดิ่งลง หลังไม่มีเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
 
 
ด้าน อัจมาล อาห์มาดี อดีตหัวหน้าธนาคารกลางของอัฟกานิสถาน ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ระบุว่า สหรัฐฯ อายัดทรัพย์ของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน ไปประมาณ 9,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 294,601-327,354 ล้านบาท) ทำให้กลุ่มตาลีบันไม่สามารถเข้าถึงแหล่งการเงินได้อีกต่อไป
 
 
 
“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”
 
 
หลัว อี้ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเสฉวน กล่าวเตือนว่า หากไม่สามารถควบคุมการลักลอบ ขนยาเสพติดในอัฟกานิสถานได้ ความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งจีน อาจถูกคุกคาม อีกทั้ง แผนริเริ่มเส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ก็จะได้รับผลกระทบด้วย
 
 
“ในแง่นี้ ปัญหาการลักลอบขนยาเสพติดในอัฟกานิสถาน เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของจีนโดยตรง” หลัว อี้กล่าว
 
 
ด้าน หยาง ชู อดีตคณบดีเอเชียกลางศึกษา ที่มหาวิทยาลัยหลานโจว กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจน ว่ากลุ่มตาลีบันจะสั่งห้ามปลูกฝิ่นหรือไม่ แต่รัฐบาลจีนอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการแนะนำให้เกษตรกรชาวอัฟกัน ปลูกพืชทางเลือกหรือพืชเศรษฐกิจ อีกทั้ง จีนยังสามารถช่วยฝึกอบรมบุคลากร เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่อต้านยาเสพติดได้อีกด้วย
 
 
ขณะที่ จู หยงเปียว ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดและการก่อการร้าย มีแนวโน้มที่จะเข้มแข็ง
“อันตรายที่ซ่อนอยู่ คือกองกำลังที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด อาจสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มก่อการร้าย” จู กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง