รีเซต

กกร. รื้อประมาณการณ์จีดีพีติดลบหนักสุด 8% - ไตรมาส 2 น่าจะหดตัวลงลึกถึงเลขสองหลัก

กกร. รื้อประมาณการณ์จีดีพีติดลบหนักสุด 8% - ไตรมาส 2 น่าจะหดตัวลงลึกถึงเลขสองหลัก
ข่าวสด
1 กรกฎาคม 2563 ( 13:56 )
88

 

กกร. รื้อประมาณการณ์จีดีพีติดลบหนักสุด 8% - ไตรมาส 2/63 น่าจะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก ชี้ครึ่งปีหลังยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศยังรุนแรง

กกร. รื้อประมาณการณ์จีดีพี - นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 ทั้งปี -8% ถึง -5% จากครั้งก่อนคาด -5% ถึง -3% การส่งออกคาด -10% ถึง -7% จากเดิมคาด -10% ถึง -5% และเงินเฟ้อคาด -1.5% ถึง -1% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 น่าจะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก

ทั้งนี้ เนื่องจากประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศยังรุนแรง ทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับแรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และประเทศอื่น

แม้ภาครัฐจะทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว เศรษฐกิจโลกยังถดถอยและสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศยังไม่ยุติ อีกทั้งทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าอาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

“กกร.ยอมรับมีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอกว่าที่คาด และการดำเนินนโยบายอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของหสรัฐ”

อย่างไรก็ตาม กกร. หวังว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาทให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด เพราะการ กลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลาและจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอยากให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนที่จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และภาครัฐจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายๆ รอบ

“แม้ภาครัฐจะคลายล็อกระยะที่ 5 แล้ว แต่ภาคต่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติเหมือนก่อนโควิด-19 จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายตื่นตระหนกเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายวัน จนไม่สามารถปลดล็อกประเทศได้ เพราะภาคเอกชนไม่อยากให้มีการล็อคดาวน์เกิดขึ้นรอบสอง“

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะการวางตัวทีมเศรษฐกิจใหม่ ในช่วงนี้ อาจทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่มีความต่อเนื่อง ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี แต่โดยหลักแล้วบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นต้องสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด ดูแลปากท้องประชาชนได้ แต่ทางกกร. ไม่ได้มีวาระหารือกันเรื่องนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง