รีเซต

‘สนธยา’ เล็งรื้ออาคารผิดกฎหมายกีดขวางทางน้ำ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำเมืองพัทยาแบบเบ็ดเสร็จ

‘สนธยา’ เล็งรื้ออาคารผิดกฎหมายกีดขวางทางน้ำ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำเมืองพัทยาแบบเบ็ดเสร็จ
ข่าวสด
15 กันยายน 2564 ( 16:26 )
38

นายกเมืองพัทยา เดินเครื่องแผนแก้น้ำท่วมแบบเร่งด่วน เน้นระบายเร็วในจุดท่วมซ้ำชุมชนและถนนสุขุมวิท เพิ่มพื้นที่รับน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ สั่งรื้อถอนอาคารรุกล้ำลำรางสาธารณะ สกัดการถมดินสิ่งปลูกสร้างสูงกว่าบ้านเรือนชุมชนเกินกฎหมายกำหนด ส่งทีมช่างเข้าช่วยเหลือและดูแลประชาชน พร้อมแผนระยะกลางและระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จ

 

 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนตกมากกว่าภาวะปกติและต่อเนื่องโดยเฉพาะในคืนวันที่ 7 ก.ย. ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนถึง 197 มม. ทำให้เมืองพัทยาซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำต้องรับน้ำจากที่อื่นๆ ที่สูงกว่าผ่านตัวเมืองไปลงทะเล ในขณะที่ความสามารถของระบบระบายน้ำของเมืองพัทยาอยู่ที่ 80-100 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางจุดสร้างความลำบากแก่ประชาชน

 

 

อย่างไรก็ดี จากการเตรียมพร้อมมาตรการรับมือทันเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพทำให้สามารถระบายน้ำออกได้รวดเร็วในส่วนใหญ่ของพื้นที่ โดยภาพรวมจะเห็นว่าเมืองพัทยาระบายน้ำได้เร็วกว่าเดิมมาก ไม่ท่วมขังนานเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ยังมีชุมชนที่เกิดท่วมขังซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่ต่ำ จึงย้ำว่าเราต้องทำให้น้ำไหลออกจากพื้นที่เมืองพัทยาเร็วที่สุด เข้าไปดูแลชาวบ้านตั้งแต่วันแรก ช่วยเหลือชุมชนเต็มที่

 

 

ทั้งนี้ มาตรการที่ดำเนินการบรรเทาทุกข์ที่เป็นหลักเฉพาะหน้า ได้แก่ การเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังในชุมชนเข้าสู่ระบบระบายน้ำ มีการระดมเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นแอ่งรับน้ำพร้อมทีมกับบรรเทาสาธารณภัยที่เข้าไปซ่อมกำแพงที่พัง ล้างทำความสะอาดดินโคลนให้แก่ชุมชน

 

นายสนธยา กล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่ง เมืองพัทยาจะบังคับใช้ พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 อย่างเคร่งครัด หลังจากที่ผ่านมามีการถมดินก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ได้ขออนุญาตเพราะส่งผลกระทบต่อชาวชุมชนและหมู่บ้านบางแห่งกลายเป็นแอ่งกระทะหรือพื้นที่รับน้ำ เช่น กรณีหมู่บ้านฟ้าริมหาด เป็นต้น เราเริ่มดำเนินการบ้างแล้วในการรื้อสถานที่รุกล้ำที่ปิดกั้นทางน้ำ ซึ่งสำรวจแล้วมีจำนวนมากที่ก่อสร้างในที่สาธารณะหรือคลองในพัทยา มีการสั่งรื้อไปแล้ว เช่น คลองพัทยาใต้ คลองนาเกลือ ฯลฯ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายการระบายน้ำในจุดที่เป็นปัญหาสำคัญทั่วเมืองพัทยา

 

 

สำหรับมาตรการอื่นๆนั้น นายสนธนา กล่าวว่า เมืองพัทยาจะเร่งออกแบบและบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูงไม่ให้ไหลเข้าชุมชน โดยการวางระบบท่อให้ไหลตัดลงสู่ทะเล เช่น บริเวณเขาน้อย เขาตาโล ห้วยใหญ่ แยกวัดชัยมงคล ซึ่งมีระยะลงสู่ทะเลประมาณ 100 เมตร รวมถึงการสูบน้ำในจุดท่วมขัง เช่น ระหว่างทางรถไฟกับถนน กลับไปยังพื้นที่แก้มลิงซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ 20 ไร่ จะต้องขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มเติมก่อนจะผันน้ำออกไป

 

 

เมืองพัทยายังได้รับการสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจของรัฐบาลมาใช้ในโครงการวางท่อระบายน้ำฝั่งตะวันออกของทางรถไฟวงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งมีการลงนามสัญญาก่อสร้าง กำลังจะเริ่มดำเนินการ เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2566

 

 

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 23 ก.พ.2564 เช่น โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำถนนเลียบรถไฟฝั่งตะวันออก ช่วงคลองนาเกลือถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 จังหวัดระยอง เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก

 

 

ขณะเดียวกันวันที่ 10 ก.ย.2564 ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ได้จัดโครงการจัดทำแผนพัฒนาเมืองพัทยา (พ.ศ.2566-2570) โดยมหาวิทยาลัยบูรพา นักธุรกิจแสดงความเห็นว่าเมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญและอาจต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม เมืองพัทยาควรจัดทำข้อมูลเตือนภัย ตลอดจนแนะนำเส้นทางคมนาคมเพื่อความสะดวก สามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่ๆเป็นปัญหาและบรรเทาผลกระทบไปก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง