รีเซต

อนุทิน ลั่น สิ้น ต.ค.ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้หมด 12 ล้านโดส ยันไทยฉีดทั่วปท.ช้าสุด พ.ย.

อนุทิน ลั่น สิ้น ต.ค.ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้หมด 12 ล้านโดส ยันไทยฉีดทั่วปท.ช้าสุด พ.ย.
มติชน
20 กันยายน 2564 ( 14:11 )
42

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า ตามที่ประเทศไทยได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 12 ล้านโดส ตามกำหนดจะส่งมาในเดือนกันยายน 2564 จำนวน 9 ล้านโดส เดือนตุลาคม อีก 3 ล้านโดส ซึ่งประเทศไทยได้ปรับสูตรฉีดวัคซีนเป็นสูตร SA คือ เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า เพื่อร่นเวลาการรับเข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้น ภายใน 3-4 สัปดาห์ ดังนั้น คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะต้องฉีดซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 ให้หมด และอีกไม่เกิน 8 สัปดาห์ ก็จะได้รับเข็มที่ 2 ครบถ้วน และประชาชนที่ฉีดสูตรนี้ภูมิต้านทานที่ได้รับจะเท่ากับการฉีดเแอสตร้าฯ 2 เข็ม

 

 

“โดยภาพรวม ประเทศไทยจะฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงอย่างช้าที่สุดคือ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งย้ำว่าวัคซีนมีเพียงพอ สธ.จัดหามาเรียบร้อย ขณะนี้เหลือเพียงวิธีกระจายและฉีดวัคซีน ต้องนั่งไล่จี้คนที่นำไปใช้กับประชาชนทั่วไป เพราะเมื่อมีวัคซีนเข้ามา ทางกรมควบคุมโรคก็ไม่ได้เก็บไว้ เมื่อผ่านการตรวจสอบรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ก็กระจายออกไปตามแผนทันที” นายอนุทิน กล่าว

 

 

นายอนุทิน กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยหนักที่ต้องเร่งรักษา และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว สามารถเข้าระบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ได้ ซึ่งจะทำให้มีจำนวนแพทย์ เครื่องมือที่ใช้ดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

 

 

“ขณะนี้จึงเริ่มทยอยปิดโรงพยาบาล (รพ.) สนาม เช่น รพ.บุษราคัม อะไรที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ ก็จะส่งไปใช้ที่สถานพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อบริหารของที่ได้ลงทุนไว้ เราไม่ได้จะใช้ครั้งเดียวแต่จะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด” นายอนุทิน กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลของอาจารย์แพทย์ในการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ให้กับเด็กที่มีอายุ 12-17 ปี นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างจะต้องมีการสรุปในทางการแพทย์ สธ.ก็มีทีมการแพทย์อยู่ ในที่ประชุมอีโอซี ก็ไม่ได้มีแค่แพทย์ในสังกัด สธ. แต่มีแพทย์ คณบดีคณะแพทย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวิชาการ ฯลฯ ดังนั้น จะต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจึงนำมาใช้กับประชาชนได้

 

 

“ส่วนกรณีผู้ปกครองที่อยากให้ลูกฉีดเป็นชนิดเชื้อตาย ขณะนี้ ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิต ยังไม่ได้ปรับทะเบียนการใช้วัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แม้แต่ในประเทศเขาเองก็ยังไม่ได้ปรับเช่นกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนที่นอกเหนือจากการจดทะเบียนจะต้องไปยื่นเอกสารขออนุญาตเพิ่มเติมจาก อย.” นายอนุทิน กล่าว

 

 

เมื่อถามถึงการเปิดประเทศว่า ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) แล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกัน แต่ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศบค. ก่อน ทุกหน่วยงานสามารถคิดเพื่อเสนอได้ หากมีปัญหา ก็ต้องตอบให้ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนวัคซีนจะต้องเร่งฉีดในทุกจังหวัด ได้ย้ำกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเร่งฉีดกลุ่มเป้าหมายให้เร็วที่สุด

 

 

เมื่อถามถึงการลดวันกักตัว นายอนุทิน กล่าว่า ได้มอบนโยบายไปแล้ว ขอเวลาให้กรมควบคุมโรคดำเนินการ ซึ่งครั้งนี้จะต้องพิจารณากับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อได้ข้อสรุป ก็จะเสนอต่อ ศบค.เห็นชอบต่อไป

 

 

ถามถึงการฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังที่ได้เริ่มฉีดใน จ.ภูเก็ต หาก รพ.อื่นจะทดลองกับประชาชนได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางทางการแพทย์ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ แต่ในระดับนโยบายก็ต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ ส่วนการจะฉีดอย่างไร เป็นเรื่องของการแพทย์ที่ทำกันอยู่แล้ว

 

 

“อย่าใช้คำว่าทดลอง เพราะก่อนจะนำมาใช้กับประชาชนทั่วไป ก็จะต้องมีหลักวิชาการทางการแพทย์รองรับอยู่ จะมาทดลองกับประชาชนไม่ได้” นายอนุทิน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง