รีเซต

"Long COVID ฟื้นฟูได้ไม่ยาก" ทำตามขั้นตอน กลับมาแข็งแรงและพร้อมกลับไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

"Long COVID ฟื้นฟูได้ไม่ยาก" ทำตามขั้นตอน กลับมาแข็งแรงและพร้อมกลับไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
NewsReporter
8 กรกฎาคม 2565 ( 09:46 )
752
จากการเผยแพร่ของเพจ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV-2 (COVID-19) ในช่วงเดือนธันวาคม 2019 จนถึงเดือนมีนาคม 2022 ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกกว่า 485 ล้านคนติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิตถึง 6 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในปี 2020 จนถึงปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อ 3.6 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 25,200 คน หรือคิดเป็นประมาณ 0.7% ถึงแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด19 ไม่สูงมาก แต่ผลกระทบตามมาภายหลังการติดเชื้อซึ่งก็คือภาวะลองโควิด (Long COVID) ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตต่อผู้ติดเชื้ออย่างมาก โดยพบผู้ที่มีภาวะลองโควิดได้ถึง 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง และ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง
 
 
Long COVID คือกลุ่มอาการหรือความผิดปกติที่ยังคงอยู่เป็นเวลานานภายหลังจากที่มีการติดเชื้อโควิด19 ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ on going symptomatic COVID ภายหลังการติดเชื้อ 4-12 สัปดาห์ และ post-COVID-19 syndrome คือระยะ มากกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ การรับรู้กลิ่นรสผิดเพี้ยน สมาธิสั้น ความสามารถในการคิดและการจดจำลดลง ซึ่งผู้ติดเชื้อมากกว่า 80% มีอาการมากกว่า 1 อาการ โดยผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอาการรุนแรง มีโอกาสเกิดลองโควิดได้มากกว่า และอาการลองโควิดสามารถยาวนานได้ถึง 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่หากได้รับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม อาการลองโควิดจะดีขึ้นในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือน ภายหลังการฟื้นฟูร่างกาย
 
 
ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาภาวะลองโควิดด้วยการใช้ยา อาหารเสริม หรือการออกกำลังที่แน่ชัด แต่แนวทางปฏิบัติแนะนำให้ใช้การรักษาแบบองค์รวม เน้นการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กัน การออกกำลังกายจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายในระบบต่าง ๆ ทั้งความแข็งแรงทนทานของระบบการทำงานของหัวใจและปอด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและความจำ อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูด้านสภาพจิตใจได้ด้วย โดยการออกกำลังจะช่วยความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตามหากผู้ที่มีอาการรุนแรงในช่วงติดเชื้อโควิด19 และยังมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุก่อนเริ่มออกกำลังกาย
 
 
การเริ่มกลับไปออกกำลังหรือทำกิจกรรมทางกายที่ต้องออกแรงเยอะ สามารถทำได้เมื่ออาการจากการติดเชื้อโควิด19 หายไปอย่างน้อย 7 วัน โดยในขณะออกกำลังสามารถสังเกตระดับความหนักของการออกกำลังโดยวัดจากความรู้สึกเหนื่อยของผู้ออกกำลัง แบ่งเป็น ความหนักระดับเบา ผู้ออกกำลังจะรู้สึกไม่เหนื่อยหรือเหนื่อยเล็กน้อย สามารถพูดคุยไปด้วยในขณะออกกำลังโดยไม่ต้องหยุดพักหายใจ ความเหนื่อยระดับกลาง ผู้ออกกำลังจะรู้สึกเหนื่อย ยังสามารถพูดคุยขณะออกกำลังได้ แต่ต้องหยุดพักหายใจเมื่อพูดจบประโยค และความเหนื่อยระดับหนัก ผู้ออกกำลังจะรู้สึกเหนื่อยมาก สามารถพูดคุยขณะออกกำลังเป็นคำสั้นๆ
 
 
ในการฟื้นฟูร่างกายด้วยการออกกำลังจะแบ่งออกเป็น5ระยะ ในแต่ระยะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งมีวิธีการฟื้นฟูตามระดับความหนักของการออกกำลัง ดังต่อไปนี้
 
ระยะที่1 วันที่ 0-7 : เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย แนะนำการออกกำลังด้วยการเดิน การยืดเหยียดส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และฝึกการหายใจเข้า-ออกให้สุดแบบช้า ๆ โดยระดับความเหนื่อยของการออกกำลังอยู่ในระดับไม่เหนื่อยถึงเหนื่อยเล็กน้อย
 
ระยะที่2 วันที่ 8-14 : เป็นการออกกำลังในระดับเบา ได้แก่ การเดิน การเล่นโยคะเบาๆ การทำงานบ้าน โดยค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังวันละ 10-15 นาที และเมื่อสามารถเดินได้ 30 นาที โดยรู้สึกเหนื่อยเพียงเล็กน้อย สามารถเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังไปสู่ระยะที่ 3 ได้
 
ระยะที่3 วันที่ 15-21 : เป็นการออกกำลังในระดับปานกลาง โดยใช้การออกกำลังแบบแอโรบิก ได้แก่ การออกกำลังที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะๆ เป็นต้น และการออกกำลังแบบมีแรงต้าน เช่น การยกดัมเบลล์หรือขวดน้ำ การออกกำลังโดยใช้ร่างกายของตัวเอง เช่น การลุก - นั่ง เก้าอี้ หรือการทำท่าสควอท (squat) ทำท่าแพลงก์ (plank) การดันกำแพงหรือวิดพื้น (push up) โดยสามารถแบ่งการออกกำลังเป็นรอบ รอบละ 5 นาที พัก 5 นาที สามารถเพิ่มรอบการออกกำลังได้ทุกวัน วันละ 1 รอบ เมื่อสามารถออกกำลังได้รวม 30 นาที (ไม่รวมเวลาพัก) ก็สามารถเพิ่มระดับความหนักไปสู่ระยะถัดไป
 
ระยะที่4 วันที่ 22-28 : เป็นการออกกำลังในระดับปานกลางเหมือนในระยะที่ 3 โดยเพิ่มความซับซ้อนในการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่งเปลี่ยนทิศทาง การวิ่งไปทางด้านข้าง หรือการกระโดดโดยสลับขา (shuffles) รวมถึงการออกกำลังแบบมีแรงต้านหลายๆท่าต่อเนื่องกัน โดยสามารถออกกำลัง 2 วัน พัก 1 วัน และเมื่อไม่มีอาการอ่อนเพลียหลังจากออกกำลังสามารถเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังในระยะถัดไป
 
ระยะที่5 ตั้งแต่วันที่ 29 เป็นต้นไป : ในระยะนี้สามารถกลับไปออกกำลังได้ตามปกติ และสามารถเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังได้เท่าที่สามารถทำได้
 

คำแนะนำและข้อควรระวังในการออกกำลัง

1. ก่อนและหลังออกกำลังต้องวอร์มอัพ และคูลดาวน์ทุกครั้ง

2. ไม่ควรเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังเร็วจนเกินไป โดยในระยะที่ 1-2 เป็นการออกกำลังในระดับเบา และระยะที่ 3-4 เป็นการออกกำลังในระดับปานกลาง

3. หากรู้สึกอ่อนเพลียในวันรุ่งขึ้นแนะนำให้พักจนหายล้า และเมื่อเริ่มออกกำลังอีกครั้งลดระดับความหนักของการออกกำลังลง

4. จะเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังก็ต่อเมื่อสามารถออกกำลังได้ตามเกณฑ์ที่แนะนำไว้ ไม่หักโหมจนเกินไป

5. หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจหอบเหนื่อยกว่าปกติ ใจสั่น แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย แนะนำให้รีบพบแพทย์
 
 
จะเห็นได้ว่า การออกกำลังเพื่อการฟื้นฟูร่างกายในภาวะลองโควิดสามารถทำได้ไม่ยาก แต่จำเป็นต้องฟื้นฟูแบบค่อยเป็นค่อยไปและต้องออกกำลังอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยการฟื้นฟูระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก็ช่วยให้สมรรถภาพร่างกายแข็งแรงและพร้อมกลับไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
 
 
สามารถดูคลิปการออกกำลังฟื้นฟูผู้ป่วยภายหลังติดโควิดและลองโควิด ได้ที่ >> https://youtu.be/SlxqypTZhiw
 
 

 

 

 

ข้อมูล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง