รีเซต

เจ้าของ Amazon สั่ง Washington Post งดออกตัวเชียร์ “แฮร์ริส” ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024

เจ้าของ Amazon สั่ง Washington Post งดออกตัวเชียร์ “แฮร์ริส” ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
TNN ช่อง16
30 ตุลาคม 2567 ( 13:05 )
18

การออกตัวสนับสนุนผู้สมัครประธานาธิบดี (Presidential Endorsement) ถือเป็นธรรมเนียมปกติในระบบประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งการสนับสนุนสามารถมาจากทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เอกชน มหาเศรษฐี รวมถึงสื่อมวลชน ซึ่งเป็นธรรมเนียมในการเลือกตั้งทุกครั้งที่หลายสื่อจะออกตัวว่าสนับสนุนใครในการแข่งขัน 


ทว่า วอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) สำนักข่าวเก่าแก่แห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่มีประวัติการออกตัวสนับสนุนพรรคเดโมแครต (Democrat Party) กลับตัดสินใจงดออกตัวสนับสนุนในการเลือกตั้งปี 2024 นี้ ตามคำสั่งตรงจาก เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ที่เป็นเจ้าของสื่อ รวมถึงยังเป็นมหาเศรษฐีเจ้าของอะเมซอน (Amazon) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ชื่อดังของโลกอีกด้วย


การออกตัวไม่สนับสนุนใครของ Washington Post

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เริ่มต้นจากการรายงานของ นิวยอร์ก โพสต์ (New York Post) หนึ่งในสื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อีกรายที่ระบุว่า เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ได้ปัดตกร่างบทบรรณาธิการ ที่ออกตัวสนับสนุนกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครต โดยให้เหตุผลว่า สำนักข่าวควรจะเป็นพื้นที่อิสระที่นำเสนอการเลือกตั้งจากทั้งสองฝ่าย


ทั้งนี้ กิซโมโด (Gizmodo) สำนักข่าวออนไลน์ที่นำเสนอเรื่องราวดังกล่าว ได้รับการยืนยันจาก มานูเอล รอยจ์-ฟรานเซีย (Manuel Roig-Franzia) และ ลอร่า วากเนอร์ (Laura Wagner) นักเขียนและผู้สื่อข่าวของวอชิงตัน โพสต์ว่าเป็นความจริง 


ในขณะที่เจฟฟ์ เบโซส์ ได้ใช้พื้นที่ "บันทึกจากเจ้าของ" ของวอชิงตัน โพสต์ ตอบโต้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถือเป็นหลักการและสิทธิ์ที่สามารถปฏิบัติได้ รวมถึงกล่าวว่า "การออกตัวสนับสนุนไม่ได้เป็นการสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง ไม่มีผู้ลงคะแนนเสียงคนไหนในเพนซิลเวเนียออกมาบอกว่า "ฉันจะไปเลือกตั้งผู้สมัครตามที่หนังสือพิมพ์สนับสนุน" ไม่มีเลย สิ่งที่เป็นจริง ๆ ก็แค่การสร้างการรับรู้อคติ มุมมองที่ไม่ได้เป็นอิสระ"


ทำไมความเคลื่อนไหวของ Washington Post ถึงเป็นเรื่องใหญ่

การไม่ออกตัวสนับสนุนพรรคการเมืองและผู้ท้าชิงจากฝั่งใดนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการสื่อสารมวลชน แต่ไม่ใช่กับวอชิงตัน โพสต์ ที่เป็นสำนักข่าว ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรีพลับลิกกัน (Republican Party) จากกรณีคดีวอเตอร์เกต (Watergate scandal) ที่มีวอชิงตันโพสต์เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในปี 1972


ในช่วงเวลานั้น มีขโมยบุกย่องเงียบไปจารกรรมข้อมูลที่สำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต และวอชิงตัน โพสต์ ก็เป็นสื่อรายแรกที่ออกมานำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างขโมยกับคณะทำงานของประธานาบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) จากพรรครีพลับลิกกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ของนิกสัน


จากการนำเสนอของวอชิงตัน โพสต์ ได้ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมระดับชาติ จนต้องมีการสืบสวนโดย FBI และทำให้ริชาร์ด นิกสันเป็นประธานาธิบดีคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ลาออกระหว่างดำรงตำแหน่ง 


และนับตั้งแต่นั้น วอชิงตัน โพสต์ ได้ออกมาสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตโดยตลอด เว้นในปี 1988 ระหว่างผู้สมัครเดโมแครตกับจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช (George H. W. Bush) ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 41 (George W. Bush ลูกชายของเขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 43) และอีกครั้งคือในปี 2024 นี้


โดยเอ็นพีอาร์ (NPR) องค์การสื่อสาธารณะแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีผู้ยกเลิกการสมัครสมาชิก (Subscription) หลังการประกาศดังกล่าวกว่า 200,000 คน จากผู้สมัครสมาชิกทั้งหมดประมาณ 2,500,000 คน รวมถึงมีนักเขียน 2 คน รวมถึงคณะกรรมการบรรณาธิการบริหารอีก 3 คน ของวอชิงตัน โพสต์ลาออก หลังการตัดสินใจของเจฟฟ์


Washington Post ในยุคของ Jeff Bezos

การไม่ออกตัวสนับสนุนผู้สมัครของวอชิงตัน โพสต์ เป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี นับตั้งแต่ปี 1988 และเป็นครั้งแรกเจฟฟ์นับตั้งแต่เข้าครองกิจการวอชิงตัน โพสต์ ในปี 2013 ซึ่งในตอนนั้นได้ใช้บริษัทแนช โฮลดิงส์ (Nash Holdings) ในการถือครองแยกอิสระจากอะเมซอนในการบริหารงานและจัดการทรัพย์สิน โดยที่ผ่านมา เจฟฟ์ก็ไม่ได้มีการสั่งห้ามกองบรรณาธิการสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมเครตแต่อย่างใด


ในขณะที่ความเคลื่อนโซเชียลมีเดียครั้งล่าสุดของเจฟฟ์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม บนแพลตฟอร์ม X ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งออกตัวเป็นผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ความเคลื่อนไหวนี้ เป็นวันเดียวกันกับมีความพยายามลอบสังหารทรัมป์ โดยออกมาแสดงความรู้สึกขอบคุณที่โดนัลด์ ทรัมป์ปลอดภัยและแสดงความเสียใจต่อเหยื่อและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ



ข้อมูล Gizmodo, Washington PostAPNPR, Wikipedia 

ภาพ Wikipedia, ReutersWikipedia#2


ข่าวที่เกี่ยวข้อง