รีเซต

ขยะโควิดพุ่ง! กทม.เพิ่มความถี่จัดเก็บในชุมชน-เร่งทำความเข้าใจแยกทิ้ง

ขยะโควิดพุ่ง! กทม.เพิ่มความถี่จัดเก็บในชุมชน-เร่งทำความเข้าใจแยกทิ้ง
มติชน
6 มีนาคม 2565 ( 15:09 )
186
 

วันนี้ (6 มีนาคม 2565) นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการจัดการขยะติดเชื้อในชุมชน ว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนมกราคม 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน ในกรุงเทพมหานคร มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเดือนมกราคม มีขยะติดเชื้อเฉลี่ย 83 ตันต่อวัน และเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีขยะติดเชื้อเฉลี่ย 105 ตันต่อวัน สำหรับขยะติดเชื้อทั้งหมด กทม.ได้นำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งมีขีดความสามารถในการกำจัด 70 ตันต่อวัน ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดที่เตาเผามูลฝอยชุมชน ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

นายวิรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.ยังได้บริหารจัดการขยะติดเชื้อที่แหล่งกำเนิด โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนทราบวิธีการทิ้งและแยกขยะติดเชื้อโควิด-19 ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การลงพื้นที่ให้คำแนะนำ การเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายในชุมชน และสวนสาธารณะของ กทม.เพื่อให้ประชาชนคัดแยกขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี ไม่ทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อเข้าสู่ระบบการกำจัดได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับประชาชนที่มีขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย และชุดทดสอบ Antigen Test Kit (ATK) ใช้แล้ว ให้นำใส่ถุงที่ไม่รั่วซึม และฆ่าเชื้อโรคด้วยการราดหรือฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วมัด หรือปิดปากถุงให้สนิท เขียน หรือติดหน้าถุงว่าขยะติดเชื้อ โดยสามารถแยกทิ้งได้ 2 วิธี คือ 1.แยกทิ้งในถังรองรับขยะติดเชื้อ (สีแดง) ซึ่งตั้งวางในชุมชน เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ทำการชุมชน โรงเรียน วัด มัสยิด สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเคหะชุมชนต่าง ๆ และ 2.แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต” วิรัตน์ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.กล่าวถึงกรณีมีข่าวประชาชนในชุมชนวัดประชาธรรม ชุมชนพระยาประสิทธิ์ ชุมชนตรอกต้นโพธิ์ และชุมชนเสริมสุข เขตดุสิต ขอให้ กทม.เร่งจัดการขยะติดเชื้อในชุมชน ว่า ได้ประสานให้สำนักงานเขตดุสิตเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงวิธีการแยกทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี การกำหนดจุดตั้งวางถังขยะติดเชื้อ และความถี่การเข้าจัดเก็บขยะติดเชื้อจากประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยที่เข้าระบบโฮม ไอโซเลชั่น (HI) ซึ่งจะมีทีมเฉพาะกิจและรถเก็บขยะติดเชื้อเฉพาะเข้าจัดเก็บ เพื่อเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคออกสู่สิ่งแวดล้อม

“นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ และ 50 สำนักงานเขต เพื่อชี้แจงและเน้นย้ำแนวทางการจัดการขยะจากสถานที่แยกกักตัวที่บ้าน สถานที่กักกัน   ที่หน่วยราชการกำหนด (Quarantine) หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ ฮอสปิเทล (Hospitel) โรงพยาบาล (รพ.) สนาม และสถานที่แยกกักตัวในชุมชน (CI) พร้อมจัดอบรมวิธีปฏิบัติการจัดเก็บขยะติดเชื้อและการดูแล         สุขภาพอนามัยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอย รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สำนักงานเขตใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ” นายวิรัตน์ กล่าว

ด้าน นายธานินทร์ เนียมหอม ผู้อำนวยการเขตดุสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานเขตดุสิต ได้รับการจัดสรรถังขยะติดเชื้อจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เพื่อส่งมอบให้ชุมชนในพื้นที่เขตดุสิต จำนวน 43 ชุมชน โดยพิจารณาติดตั้งถังขยะร่วมกับชุมชนในจำนวนและจุดที่เหมาะสม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในชุมชนได้ทราบถึงชนิดประเภทขยะติดเชื้อที่ต้องทิ้งในถังส้ม อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยนำขยะประเภทกล่องอาหาร ขวดน้ำ จากผู้ที่อยู่ในระบบแยกรักษาตัวที่บ้านไปทิ้งรวมปะปนมาในถังสีส้มจำนวนมาก เขตฯ จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์แนวทางการจัดการขยะจากสถานที่แยกกักตัวที่บ้าน โดยประสานชุมชนเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทุกช่องทาง

“สำหรับการนัดหมายเข้าจัดเก็บขยะติดเชื้อในชุมชน เขตฯ จะเข้าจัดเก็บเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ โดยรวบรวมขยะติดเชื้อมารอการจัดเก็บจาก บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ที่ศูนย์ราชการเกียกกาย และได้จัดทำจุดรวบรวมขยะติดเชื้อที่ถูกสุขลักษณะไว้รองรับปริมาณขยะติดเชื้อในพื้นที่ แต่เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อและปริมาณขยะเพิ่มขึ้น บ.กรุงเทพธนาคมฯ จึงเข้าจัดเก็บเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้นำขยะประเภทภาชนะบรรจุอาหารใส่ถุงดำ หรือขาวมัดปากถุง ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อโรค ทิ้งตามแนวทางที่กทม.แนะนำ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการประชุมคณะกรรมการชุมชนในการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่และขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มรอบการจัดเก็บให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะติดเชื้อตกค้างและเกิดอันตรายกับประชาชนในชุมชน” นายธานินทร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง