รีเซต

“ทองคำ” สินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสงครามภาษี

“ทองคำ” สินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสงครามภาษี
ทันหุ้น
11 เมษายน 2568 ( 15:26 )
8

#how to ลงทุน by MFC #ทันหุ้น ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (All-Time High) ที่ระดับ 3,167 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ โดยราคาทองคำเร่งตัวขึ้นจากนโยบาย "America First" ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแผนที่ใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่เกินดุลการค้าต่อสหรัฐฯ และมาตรการภาษีศุลกากรฐาน 10% (Universal Tariffs)  โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อทองคำมากขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย


อัตราภาษีเฉลี่ยหลังประกาศ “Liberation Day” พุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบกว่า 90 ปี และเข้าใกล้ระดับยุค Smoot-Hawley Tariff Act (1930s) ที่ประมาณ 20% ซึ่งในอดีตก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) จากการประกาศภาษี ตอบโต้ล่าสุด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงและความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ (Recession) เพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญ โดย Bloomberg คาดการณ์โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ (Recession) เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางแห่งคาดโอกาสเกิดสูงถึง 60%


จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ราคาทองคำมักปรับตัวขึ้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ หรือความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น


1. ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)

แม้ว่าช่วงนี้ยังอยู่ในยุค Gold Standard แต่เหตุการณ์ ตลาดหุ้นล่มในปี 1929ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง รัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลานั้นจึงประกาศปรับราคาทองคำจาก 20.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ เป็น 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ ในปี 1934 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มปริมาณเงิน แม้ทองคำจะถูกควบคุมราคา แต่พฤติกรรมของนักลงทุนเริ่มชัดเจนว่า ในยามวิกฤต ความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นเพราะเชื่อมั่นในมูลค่าที่มั่นคงของมัน


2. วิกฤตน้ำมัน (Oil Crisis, 1970s)

เมื่อกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ลดการผลิตในช่วงปี 1973–1979ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจนเกิด ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก สหรัฐฯ ประสบภาวะ“Stagflation” ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อกลับพุ่งสูง นักลงทุนจึงหันไปหาทองคำในฐานะ เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวจาก 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ ขึ้นไปสูงสุดที่ 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ ในปี 1980


3. วิกฤตซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis)

นี่คือหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อระบบการเงินโลก การล้มของธนาคาร Lehman Brothers ในปี 2008จุดชนวนให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดทุน นักลงทุนพากันเทขายหุ้นและตราสารหนี้ หันไปถือทองคำแทน ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ ในปี 2011 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในขณะนั้น


4. วิกฤตโควิด-19 (COVID-19 Crisis)

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวฉับพลัน ตลาดหุ้นร่วงแรง และภาคธุรกิจหยุดชะงักทั่วโลก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ และมาตรการ QE มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดความกังวลเงินเฟ้อในอนาคต ราคาทองคำจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถทำสถิติใหม่ที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยเอานซ์ ในปี 2020


สำหรับมุมมองระยะยาว บลจ.เอ็มเอฟซี มองความตึงเครียดของสงครามการค้า สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่เข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศและเป็นการกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แนวโน้มนี้มีส่วนช่วยหนุนราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว


how to ลงทุน by MFC

โดย ไชยวัฒน์ คมโสภาพงศ์ CFP®

บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง