รีเซต

สธ.ยัน รพ.ห่อร่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีมาตรฐาน เตาเผาอุณหภูมิสูง เชื้อโรคตาย ไม่ปนเปื้อนในอากาศ

สธ.ยัน รพ.ห่อร่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีมาตรฐาน เตาเผาอุณหภูมิสูง เชื้อโรคตาย ไม่ปนเปื้อนในอากาศ
มติชน
6 สิงหาคม 2564 ( 15:33 )
47
สธ.ยัน รพ.ห่อร่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีมาตรฐาน เตาเผาอุณหภูมิสูง เชื้อโรคตาย ไม่ปนเปื้อนในอากาศ

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวประเด็นการ “ฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19” ว่า จากประเด็นการเผยแพร่ว่าวัดบางแห่งมีเตาเผาศพร้าว ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมอบหมายให้ทาง สบส.และกรมอนามัยดำเนินการร่วมกัน ซึ่งทางกรมฯมีกองวิศวกรรมการแพทย์ร่วมกับวิศกรอาสา ประสานไปที่สำนักพุทธศาสนา เพื่อลงไปตรวจสอบ เป้าหมายเป็นวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) นททบุรี และปทุมธานี รวม 189 แห่ง โดยตรวจสอบแล้ว 31 แห่ง พบว่า มี 4 แห่งที่ขณะนี้หยุดทำการเผาศพชั่วคราว เนื่องจากใกล้ชุมชน ไม่สะดวกเพราะมีผู้ติดเชื้อ

 

 

นพ.ธเรศกล่าวว่า การลงพื้นที่ไปตรวจสอบได้พูดคุยกับทางวัด โดยวิศกรอาสาได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับทางวัด เพื่อดูโครงสร้างและระบบปฏิบัติการ ข้อมูลพบว่าวัดส่วนใหญ่มีศักยภาพในการเผาวันละประมาณ 2-4 ศพ ขึ้นอยู่กับชนิดของเตา ทั้งนี้ กทม. มีวัด 92 แห่ง ในภาวะปกติเผาได้เฉลี่ยวันละ 184 ศพ ในภาวะวิกฤตเพิ่มได้เป็น 368 ศพ เป็นสองเท่า นนทบุรี วัด 42 แห่ง ภาวะปกติเผาได้วันละ 84 ศพ ภาวะวิกฤต 168 ศพ และปทุมธานี วัด 55 แห่ง ภาวะปกติเผาได้วันละ 110 ศพ ภาวะวิกฤต 220 ศพ ตรงนี้เราให้ความมั่นใจว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจะมีที่สามารถฌาปนกิจได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐาน

 

 

นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า สบส.ได้ทำระบบ GIS วัดเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพื่อให้ตรวจสอบสถานที่ใกล้เคียงได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการเผาในบางวัดมากเป็นพิเศษ เราจึงทำข้อมูลดังกล่าวให้สถานพยาบาลและพนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะเป็นข้อมูลให้ญาติกระจายไปวัดต่างๆ เพื่อลดภาระงานและเพื่อให้เตาเผาใช้งานได้นานขึ้น สามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ที่ THAI Stop COVID-19 และเว็บไซต์ของกรมอนามัยและ สบส. นอกจากนี้ทางกรมได้หาข้อมูลบริษัทผลิตและจำหน่ายเตาเผาศพ 7 บริษัทที่สามารถติดตั้งและใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 7-14 วันในการติดตั้งและมีสต๊อกเพียงพอ ดังนั้น ส่วนที่มีปัญหา ทางกรมกับสำนักพุทธศาสนาก็จะร่วมกันเข้าไปดำเนินการ

 

 

ด้าน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 นั้นได้มีการตกลงและทำความเข้าใจภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 2 กรณี 1.การเสียชีวิตที่ รพ.ซึ่งไม่ยุ่งยากมากนัก เพราะกลไกระบบ รพ.มีทีมจัดการศพ และมีประวัติการรักษาครบ การออกหนังสือรับรองการเสียชีวิตจากสถานพยาบาลให้ญาติไปยืนยันการเสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ประเด็นที่ 2.การเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ส่วนนี้ประชาชนอาจจะต้องแจ้งองค์กรสาธารณะกุศล มูลนิธิ หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ดูแลบรรจุศพให้เป็นไปตามมาตรฐาน

 

 

นพ.ดนัยกล่าวว่า พนักงานดำเนินการจะมีการฝึกอบรมการดำเนินการในสถานการณ์โควิด-19 โดยเมื่อรับแจ้งแล้วจะมีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อชันสูตรศพ มีการบันทึกสภาพศพ เก็บข้อมูลหลักฐาน ลงสาเหตการเสียชีวิต และขอรับหนังสือรับรองการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน แล้วนำเอกสารต่างๆ ไปแจ้งนายทะเบียนที่ทำการปกครองอำเภอ เทศบาลต่างๆ หรือสำนักงานเขต เพื่อออกใบมรณะบัตรใน 24 ชั่วโมง เมื่อเสร็จแล้วญาติสามารถนำหลักฐานไปแจ้งรพ.เพื่อนำศพออกจากรพ.ไปประกอบพิธีทางศาสนา

 

 

นพ.ดนัยกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 การบรรจุศพในถึงซิปล็อก ฆ่าเชื้อ และซีล 2 ชั้นให้สนิท นำขึ้นยานพาหนะส่งไปยังวัดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งกรณีที่เป็นการเผาในเมรุนั้นส่วนใหญ่เตาใน กทม. ปริมณฑล มี 2 หัวเผา ห้องแรกเผาศพอุณหภูมิ 760 องศาเซลเซียส ส่วนห้องที่ 2 เป็นการเผาควัน อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 1,000 องศาฯ เพื่อกำจัดสารไดออกซิน และสารก่อมลภาวะในชั้นบรรยากาศ ซึ่งขั้นตอนการเผาเน้นย้ำว่าไม่ให้มีการเปิดประตูเผาศพ ไม่ให้เขี่ยหรือพลิกศพเหมือนในอดีต เพราะจะทำให้ 1.อุณหภูมิเตาเผาลดลง 2.อาจจะเกิดการฟุ้งกระจายได้ สำหรับการเก็บเถ้ากระดูกนั้นขอยืนยันว่าเชื้อทุกประเภทตายหมด

 

 

“การดูแลพนักงานสวมชุด PPE นั้นเป็นการสวมตั้งแต่ขั้นตอนการบรรจุศพ และนำส่งศพมาที่วัดหรือส่งขึ้นเมรุ เป็นการป้องกันการแพร่ระบาด และไม่ให้มีการสัมผัสน้ำเหลือง เยื่อเมือกต่างๆ ที่ออกมาจากศพ การเผาในอุณหภูมิสูงก็มั่นใจได้ไม่มีเชื้อโควิดออกมา ส่วนสัปเหร่อที่ต้องสวมชุด PPE โดยข้อเท็จจริง ศพ หรือโลงศพส่งมาจาก รพ. ซึ่งเราไม่ได้สัมผัสเอง ก็ไม่จำเป็นต้องสวม PPE แต่เมื่อกลับบ้านแล้วให้ถอดเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผมทันที เพื่อป้องกันกรณีอาจจะมีการสัมผัสมาจากส่วนอื่นมากกว่า” นพ.ดนัยกล่าว

 

 

นพ.ดนัยกล่าวว่า กรณีหลายวัดไม่กล้าให้บริการ อย่างที่นำเรียนว่ากระบวนการบรรจุศพนั้นมีการซีลอย่างดี ไม่ให้มีการรั่วซึมของสารคัดหลั่งหรือของเหลวต่างๆ โอกาสรั่วซึมมีน้อยมาก ดังนั้น วัดสามารถฌาปนกิจได้ตามปกติ กรณีมีพิธีสวดศพก็สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ส่วนการฝังศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นั้น จุดสำคัญคือย้ำว่าไม่ให้ญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องไปเปิดถุงซิป หรือแตกเพราะจะทำให้ของเหลว หรือสารคัดหลั่งซึมออกมา และอาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ ดังนั้น ถ้าฝังต้องฝังทั้งถุง และโลงบรรจุศพ ซึ่งเมื่อฝังแล้วเชื้อจะตายไปเอง เพราะธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีอยู่ได้ในคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนคนที่ติดเชื้อเสียชีวิตแล้ว เชื้อจะอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น 2-3 วันเชื้อก็ตายไปด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง