สธ.เตรียมพร้อมเปิดเทอม 1 ก.ค. ดูแลด้านจิตใจผ่านแอพพ์ฯ HERO
สธ.เตรียมพร้อมเปิดเทอม 1 ก.ค. ดูแลด้านจิตใจผ่านแอพพ์ฯ HERO
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรงเรียนเป็นอีกหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยเฉพาะหลังเปิดเรียนตามปกติในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจก่อนหน้านี้พบว่า นักเรียนกว่าร้อยละ 20 มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม อารมณ์ และสังคม ย้ำว่า ไม่ใช่การเจ็บป่วยแต่เป็นเรื่องปัญหาครอบครัว ความรัก การปรับตัว เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตมีการเข้าไปให้การช่วยเหลือโดยเร่งเฝ้าระวัง ป้องกัน คัดกรอง และให้การช่วยเหลือดูแล โดยมีระบบการประเมิน SDQ25 หรือการคัดกรองโดยตอบแบบสอบถาม 25 ข้อ สามารถควบคุมปัญหาได้ระดับหนึ่ง
“ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น HERO หรือ Health and Education Re-integrating Operation เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กนักเรียนหลังเปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เพราะการที่เด็กต้องเก็บตัวอยู่บ้านก่อนหน้านี้ เมื่อกลับเข้าโรงเรียนอาจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวกับเพื่อนใหม่ บรรยากาศใหม่ๆ วิถีการใช้ชีวิตในโรงเรียนแบบใหม่ ที่อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ โดยรูปแบบคือ การร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการให้ครู เฝ้าระวัง สังเกตอารมณ์ พฤติกรรม และสังคมของเด็กๆ โดยมีแบบประเมิน 9S หรือตอบคำถาม 9 ข้อ เพื่อค้นหาปัญหาเด็กซน ใจลอย รอคอยไม่เป็น เศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย เป็นต้น เมื่อพบปัญหาก็ให้คำปรึกษา แนะนำและปรับพฤติกรรมเด็ก หากเกินศักยภาพก็ให้มีการส่งต่อมายังสถานพยาบาลผ่านแอพพ์ฯ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการนำร่องใช้การคัดกรองในรูปแบบ 9S เทียบกับการคัดกรองรูปแบบเดิมคือ SDQ25 ในพื้นที่นำร่อง 13 พื้นที่ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) จำนวน 5,311 คน พบว่าการคัดกรองด้วย 9S พบเด็กกลุ่มเสี่ยงถึง 1,313 คน คิดเป็นร้อยละ 24.72 ส่วนการคัดกรองด้วย SDQ25 คัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ 608 คน คิดเป็นร้อยละ 11.45 เพราะฉะนั้นการคัดกรองด้วย 9S ซึ่งตอบคำถามน้อยกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า ค้นหาได้เร็วกว่าจะทำให้เด็กได้รับการดูแลได้เร็วขึ้น โดยเมื่อเด็กได้รับการดูแลจากครูในพื้นที่แล้วพบว่าดีขึ้นร้อยละ 60 กลับมาเป็นปกติร้อยละ 10 และมีร้อยละ 30 ต้องส่งต่อให้แพทย์เชี่ยวชาญดูแล นับว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเด็กได้รับการช่วยเหลือโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่าย
ด้าน นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การเลื่อนเปิดโรงเรียนจากวันที่ 18 พฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎคมนี้ ทำให้เด็กส่วนหนึ่งมีความกังวล โดยเฉพาะในระยะหลังที่ผู้ปกครองกลับไปทำงานทำให้เด็กๆ อยู่บ้านกันเอง ทำให้ไม่มีใครให้คำปรึกษา อย่างไรก็ตาม อีก 2 วัน ทางโรงเรียนได้มีการจัดมาตรการสร้างความปลอดภัยเอาไว้ถึง 44 ข้อ ต้องผ่านทุกข้อ ดังนั้น เปิดได้ 100% แต่รูปแบบการเรียนแตกต่างกันบ้าง เรามีการสร้างนักจิตวิทยาในโรงเรียนคอยดูแล ส่วนเด็กที่เรียนที่บ้าน ก็มีการสร้างนักจิตวิทยาในเขตพื้นที่คอยดูแลเช่นกัน และเชื่อว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งอยู่ใกล้ชิดนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันดูแลนี้ได้ และต้องขอบคุณสำหรับแอพพ์ฯ HERO ที่จะเข้ามาเสริมเรื่องการประเมินสุขภาพจิตเด็ก และจำแนกเด็กที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร็ว โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทย และส่งต่อให้จิตแพทย์ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีด้วย