รีเซต

‘ฝ่ายค้าน’ อภิปรายหนุนร่างฉบับก้าวไกล ยัน กม.คู่ชีวิต ของรัฐบาลไม่เท่ากับ สมรสเท่าเทียม

‘ฝ่ายค้าน’ อภิปรายหนุนร่างฉบับก้าวไกล ยัน กม.คู่ชีวิต ของรัฐบาลไม่เท่ากับ สมรสเท่าเทียม
มติชน
15 มิถุนายน 2565 ( 14:28 )
81
1
‘ฝ่ายค้าน’ อภิปรายหนุนร่างฉบับก้าวไกล ยัน กม.คู่ชีวิต ของรัฐบาลไม่เท่ากับ สมรสเท่าเทียม

จากนั้นเวลา 11.50 น. ที่ประชุมให้ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ชี้แจงหลักการและเหตุผลแต่ละฉบับ โดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมว่า การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยเสนอให้ออกกฎหมายแยกเฉพาะแทนการแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ นั้น ดูแล้วย้อนแย้ง เพราะในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ ครม.เสนอก็นำบทบัญญัติบางมาตราใน พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มาบังคับใช้การที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอ้างอิงงานวิจัย โดยใช้ความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงร่าง พ.ร.บ.นี้คือ การเลือกปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ งานวิจัยนี้มีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้ว เอาความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงเพื่ออะไร แต่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องประชาชน แค่พื้นฐานจะใช้ชีวิตกับใคร ก็ยังไม่มีสิทธิมนุษยชนแบบ 100% แม้จะยอมรับแต่มีเงื่อนไขการยอมรับ เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิ แต่สิทธิเหล่านี้ถูกพรากไป ทั่วโลกต่อสู้เรื่อความเสมอภาคทางเพศ แต่ประเทศไทยกลับกดความเสมอภาคทางเพศไม่ให้เกิดขึ้น อย่าให้ประชาชนสิ้นหวังกลไกระบบรัฐสภา ครม.ที่ยกร่างร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอาจคิดเป็นชัยชนะตัวเอง แต่เป็นความพ่ายแพ้ของ LGBT เพราะสิ่งที่ยัดเยียดให้ คือ ความไม่เสมอภาค

 

ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ของครม. ว่า เพื่อให้สังคมเข้าใจ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนในสังคม ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสเป็นคู่ชีวิต เพราะกฎหมายแพ่งพาณิชย์ฯ ระบุให้เป็นการสมรสชายกับหญิงเท่านั้น จึงควรมีกฎหมายรับรองความสัมพันธ์การเป็นคู่ชีวิต

 

นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์อ (ปชป.) ชี้แจงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับพรรค ปชป. ว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของพรรค ปชป. มีหลักคิดแตกต่างจากฉบับครม. เพราะกระทรวงยุติธรรมมองว่า คู่สมรสต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น การแต่งงานของเพศอื่นถูกมองเป็นเพียงคู่ชีวิต จึงถูกกลุ่ม LGBTQ+ ต่อต้าน เพราะมองเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่กฎหมายพรรค ปชป. เปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน เป็นทางเลือกทุกคู่ชีวิตทั้งชาย-ชาย, หญิง-หญิง รวมทั้งชาย-หญิง คำนิยามคู่ชีวิตของครม.เขียนว่า “คู่ชีวิต” คือ บุคคล 2 คน เป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพ.ร.บ.นี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ให้นิยาม “คู่ชีวิต” คือ บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ตามพ.ร.บ.นี้ อยากให้ใช้ร่างพรรค ปชป. เป็นร่างหลัก เพราะมีมิติพัฒนาความสัมพันธ์ พัฒนาครอบครัว เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมซื้อเวลาของผู้มีอำนาจที่มักบอกขอกลับศึกษาผลกระทบก่อน เป็นการประกาศใช้พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อนำไปสู่การสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจังและจริงใจต่อไป ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่พรรค ปชป. เสนอ มองคนเท่ากัน ให้โอกาสทุกคน ทุกเพศ เลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตตัวเองได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นความหวังของทุกคู่ชีวิต

 

ต่อมาที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยส.ส.ฝ่ายค้านขึ้นมาสนับสนุนให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรค ก.ก. เพื่อให้สิทธิความเป็นธรรมกับกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับหรือเลือกจะสมรสกับใคร โดยไม่นำเพศสภาพ หรือเพศกำเนิดมาเกี่ยวข้อง และเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม. มีเนื้อหาและหลักการไม่ตรงกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่สามารถนำมาแทนกันได้ ขณะที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมองว่า การไปแก้ไขนิยามเรื่องคู่สมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาไปกระทบกับกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ซึ่งร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.มีความคล้ายคลึงกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในหลายประเด็น หากประเด็นใดที่เห็นไม่ตรงกันสามารถไปแก้ไขในชั้นกมธ.ได้

 

นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.ไม่ตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ อยากให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปก่อนแล้วไปแก้ไขในชั้นกมธ.อีกครั้ง ร่างของพรรค ก.ก. แก้แค่ 3 คำ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ คือ 1.การสมรสชาย-หญิง แก้เป็นการสมรสระหว่างบุคคล-บุคคล 2.สามีภริยา เป็นคู่สมรส 3.บิดามารดา เป็นบุพการี ไม่มีความยุ่งยากอะไร อย่ามองแค่กฎหมายนี้เสนอโดยพรรค ก.ก. แต่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนหลายล้านคน อยากให้รับหลักการเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกัน

 

“ทั้งนี้ เมื่อดิฉันได้ฟังที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดชื่นชมสตรีไทย ว่าต้องรับบทหนัก 3 หน้าที่ คือ เป็นภรรยา มารดา และหารายได้เพิ่มช่วยครอบครัว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ก็รู้สึกผิดหวังและอับอายต่อสายตาชาวโลก เพราะนี่ไม่ใช่การพูดในแนวทางของคนทศวรรษนี้ แต่เป็นการพูดเหมือนผู้ชายยุคมนุษย์ถ้ำ” นางอมรัตน์ กล่าว

 

ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.แทนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรค ก.ก. ที่ไปตัดคำว่าชาย-หญิงออกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ กระทบสิทธิประชาชนที่เป็นชายหญิงทั่วประเทศ เมื่อเทียบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จาก 17 ประการ มีความเหมือนกัน 15 ประการ ทั้งการสมรส การรับรองบุตรบุญธรรม การยินยอมรักษาพยาบาล สิทธิที่จะได้จากรัฐในฐานะคู่สมรส มีต่างกันอยู่ 2 ข้อคือ การหมั้นกับการอุ้มบุญที่สามารถไปเพิ่มเติมเนื้อหาในชั้นกมธ.ได้ ถือเป็นทางออกดีที่สุดในการรักษาสิทธิทุกฝ่าย โดยไม่กระทบสังคมส่วนใหญ่ การออกกฎหมายใดๆ เพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ต้องไม่กระทบสิทธิคนกลุ่มอื่น หากร่างกฎหมายมีผลสัมฤทธิ์เหมือนกัน ต่างกันแค่ชื่อ วิธีบัญญัติกฎหมาย ก็น่าจะยอมกันได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง