ส่งออก ส.ค.ติดลบ 7.94% มั่นใจทั้งปีติดลบไม่ถึง 10% ชี้สินค้าอาหาร - สินค้าWFH - ป้องกันการติดเชื้อขายดี
พาณิชย์เผยส่งออกเดือนส.ค.ติดลบ 7.94% มั่นใจทั้งปีติดลบไม่ถึง 10% เผยสินค้าอาหาร - สินค้า WFH - ป้องกันการติดเชื้อขายดี แนะทูตพาณิชย์โปรโมตหาช่องทางส่งออกเพิ่ม
ส่งออก ส.ค.ติดลบ 7.94% - น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ถึงสถิติการส่งออกของประเทศช่วงเดือนส.ค. 2563 พบว่าสามารถส่งออกโดยรวมอยู่ที่ 20,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 7.94% ส่งผลให้ยอดส่งออกตลอด 8 เดือน ตั้งแต่ม.ค.-ส.ค. 2563 อยู่ที่ 153,374.8 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.75% ขณะที่ยอดการนำเข้าเดือนส.ค. 2563 อยู่ที่ 15,863.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบ 19.68% ส่งผลให้ยอดนำเข้า 8 เดือนตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค. 2563 อยู่ที่ 134,981.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 15.31% ส่งผลให้ไทยยังได้ดุลการค้าในเดือนส.ค. 2563 อยู่ที่ 4,349.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยอดได้การค้า 8 เดือนอยูที่ 18,393.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากดูสาเหตุแม้ว่าการส่งออกไทยในช่วงเดือนส.ค. 2563 ติดลบ 7.94% ถือว่าเป็นการติดลบน้อยลงจากช่วงที่ผ่านมาโดยมีสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะการฟื้นตัวด้านการขนส่งสินค้าทั้งทางอากาศ ทางเรือและทางบกที่มีคำสั่งซื้อสินค้าของตลาดต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้นส่งผลให้การค้าโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวแบบช้าๆ ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนส.ค. แตะระดับเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 จะยังวิตกกังวลหลายประเทศทั่วโลก แต่เชื่อว่าบรรยากาศการค้าการลงทุนเริ่มมีสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวภาคการส่งออกของการค้าโลกรวมถึงภาคการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตาม ทางสนค. ประเมินไว้ หากการส่งออกของไทยเฉลี่ยต่อเดือนเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปในช่วง 4 เดือนที่เหลือปีนี้โอกาสที่ตัวเลขการส่งออกของไทยจะไม่ถึง 10% หรือ หรือติดลบไม่ถึงสองหลักแน่นอน โดยการส่งออกของไทยน่าจะติดลบอยู่ที่ 5-8% เท่านั้น ซึ่งมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ หลายประเทศคลายล็อกจากปัญหาโควิด-19 แต่ปัจจัยที่ต้องจับตาคือ ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 แถวยุโรป หรือการค้าชายแดนที่เกรงว่าโควิด-19 จะแพร่ระบาดเข้ามาในไทยความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาน้ำมัน เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดีมี 3 กลุ่มก็คือ 1. สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์มขยายตัว 599.6% ต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดอินเดีย เคนยา มาเลเซีย และเมียนมา หมูสดแช่แข็ง 962.1% ขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดฮ่องกง ลาวและกัมพูชา อาหารสัตว์เลี้ยง 22.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือนในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น อิตาลี ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงขยายตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าขยายตัว 31.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือนในตลาดสหรัฐ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้มาเลเซีย เปรู อินโดนีเซีย อิยิปต์
และ 3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่มีการของโรคอย่างหนักในสหรัฐ และสหราชอาณาจักร โดยขยายตัว 125.9% ต่อเนื่อง 9 เดือนในตลาดสหรัฐ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน เยอรมัน ดังนั้นภาคเอกชน ผู้ส่งออกไทยควรใช้โอกาสนี้ในการหาช่องทางการส่งออกเพิ่มเติมด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มีทูตพาณิชย์ประจำอยู่ทั่วโลกต้องดำเนินการก็คือการเร่งหาลูกค้าในต่างประเทศด้วยการโปรโมตสินค้าไทยในฐานะเป็นเซลส์แมนของประเทศโดยเน้นสินค้า 3 กลุ่มที่ขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา