สายเมาฝันค้าง กทม.ยืด "ห้ามขายเหล้า" ยาวถึง 30 เมษาฯ เตรียมออกประกาศวันนี้
สายเมาฝันค้าง กทม.ยืด “ห้ามขายเหล้า” ยาวถึง 30 เมษาฯ เตรียมออกประกาศวันนี้
กทม.- นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (20 เมษายน) เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) กรุงเทพมหานคร มี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ทั้งนี้ที่ประชุมจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ คือ มาตรการที่ กทม.ออกประกาศ เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 10-20 เมษายน 2563 โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้
“เนื่องจากวันที่ 20 เมษายน ครบกำหนดเวลาตามประกาศเดิม ดังนั้นคณะกรรมการอำนวยการฯ จึงต้องหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาว่าจะผ่อนปรนมาตรการ หรือขยายเวลาคำสั่งปิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และองค์ประกอบ ปัจจัยอื่นๆ พบว่าขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคม และเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีผู้คนเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการตรวจคัดกรองที่เข้มข้น แต่จากการตรวจคัดกรองก็ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ แม้จะเป็นจำนวนที่น้อย แต่ไม่ควรประมาท กทม.จึงจำเป็นต้องขยายเวลาห้ามจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนมีการไปรวมกลุ่ม ชุุมนุม พบปะ สังสรรค์กัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์การระบาดจะรุนแรงขึ้นอีกได้ คาดว่าจะถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งในการประชุมวันที่ 20 เมษายนนี้จะมีการหารือในรายละเอียดและออกเป็นประกาศเพิ่มเติมต่อไป” นพ.ชวินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ได้มีการออกจดหมายแจ้งคู่ค้าว่าจะเปิดให้บริการห้างในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แสดงว่า กทม.ผ่อนปรนมาตรการให้แล้วใช่หรือไม่ นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ คาดว่าน่าจะเป็นห้างในต่างจังหวัดมากกว่า แต่สำหรับของพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการพิจารณาผ่อนปรนในส่วนนี้ เพราะสถานการณ์ยังไม่หน้าไว้วางใจ อีกทั้งจะต้องรอให้คณะกรรมการฯ จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาและเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล ก่อน