รีเซต

‘พิพัฒน์’ เร่งรวมแผนใช้งบเงินกู้ 4 แสนลบ. เบื้องต้นขอกันไว้ 1-2 หมื่นลบ. ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว

‘พิพัฒน์’ เร่งรวมแผนใช้งบเงินกู้ 4 แสนลบ. เบื้องต้นขอกันไว้ 1-2 หมื่นลบ. ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว
มติชน
8 มิถุนายน 2563 ( 01:32 )
166
‘พิพัฒน์’ เร่งรวมแผนใช้งบเงินกู้ 4 แสนลบ. เบื้องต้นขอกันไว้ 1-2 หมื่นลบ. ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ในระหว่างการรอให้หน่วยงานภายใต้สังกัด ส่งแผนงานและงบประมาณที่จะใช้ในโครงการซ่อมสร้าง แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้ามา หลังจากนั้นกระทรวงฯ จะทำการพิจารณาและรวบรวมแผนงานทั้งหมด ก่อนนำเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ในการพิจารณาความเหมาะสมต่อไป โดยในขณะนี้ยังมีการส่งแผนเข้ามาเรื่อยๆ จึงยังไม่สามารถสรุปได้เร็วมากนัก คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ รวมถึงจำนวนงบประมาณที่จะขอใช้ในส่วนของพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เบื้องต้นยังยืนที่ 1-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากได้ข้อสรุปของแผนงานทั้งหมดแล้ว น่าจะได้ตัวเลขงบที่ชัดเจนมากกว่านี้

 

นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) กระทรวงฯ ได้เข้าไปช่วยในการเจรจากับธนาคาร เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ได้มากขึ้น โดยเบื้องต้นสามารถช่วยเหลือได้แล้วกว่า 1,000 ราย จากที่ส่งเรื่องมาให้ช่วยเหลือ 3,600 ราย ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งเจรจากับธนาคาร เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และนำเงินทุนไปหมุนเวียน และพยุงธุรกิจให้เร็วที่สุด ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็ม ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เพราะไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย กระทรวงฯ จะใช้วิกฤตโควิด-19 ดึงให้เข้ามาอยู่ในระบบมากที่สุด โดยเบื้องต้นหากเอสเอ็มอีนอกระบบต้องการให้ช่วยเหลือ สามารถส่งเรื่องเข้ามาถึงกระทรวงฯ ได้โดยตรง หลังจากนั้นจะพิจารณาว่า สามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เป็นการพิจารณาแบบรายกรณี

 

“หากมีเอสเอ็มอีท่องเที่ยวนอกระบบ ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แต่ไม่เข้าข่ายการได้รับการช่วยเหลือ ในเงื่อนไขที่อาจไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ จะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ โดยเบื้องต้นอาจต้องหารือกับกระทรวงการคลังเพิ่มเติม เพื่อดูว่าจะสามารถตั้งกองทุนช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เพราะหากมีกองทุนออกมาช่วยเหลือแบบตรงจุด น่าจะมีเงื่อนไขน้อยกว่าธนาคาร และช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น แต่กรณีนี้ยังอยู่ในระยะถัดไปที่จะหารือ และพิจารณาถึงรูปแบบ รวมถึงความเหมาะสมในการดำเนินการ” นายพิพัฒน์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง