อดีตขุนคลัง อัด ‘บิ๊กตู่’ สงสารไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ-คลังถังแตก ย้ำเงินคงคลังที่ใช้อยู่มีแต่กู้มาถม ขีดเส้น 6 เดือนหนี้ประเทศท่วม
สมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลัง อัด ‘บิ๊กตู่’ สงสารไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ-คลังถังแตก ย้ำเงินคงคลังไม่มีแล้วที่ใช้อยู่มีแต่กู้มาถม ขีดเส้น 6 เดือนหนี้ประเทศท่วม
อัด‘บิ๊กตู่’ไม่รู้คลังถังแตก - นายสมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลัง เปิดเผยว่า การเสนอให้รัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) จาก 7% เป็น 9% หรือ เพิ่มขึ้น 2% เพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐแก้ปัญหาคลังถังแตก ลดการกู้เงินมาโปะเงินคงคลังให้เพียงพอใช้จ่าย ไม่ได้เป็นข้อเสนอชุ่ยๆ แต่มีข้อมูลและเห็นในต่างประเทศเขาทำมาแล้วได้ผล เช่น ประเทศญี่ปุ่น เริ่มเก็บภาษีแวตในปี 2532 จาก 3% ในรอบ 30 ปี ล่าสุดญี่ปุ่นเก็บภาษีที่ระดับ 10% ก็ไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวลดลง หรือ กำลังซื้อลดลง
ดังนั้น การที่คลังออกมาอ้างไม่ควรขึ้นภาษีแวต เพราะมีเงินคงคลังอยู่มาก เป็นการพูดที่อธิบายไม่หมด ซึ่งอยากจะบอกให้รัฐบาลและประชาชนรับรู้ว่า เงินคงคลังเป็นเงินทุนหมุนเวียนของประเทศ ตอนนี้เงินคงคลังไม่มีแล้ว เงินคงคลังที่มีอยู่มาจากเงินกู้ที่เสียดอกเบี้ยทั้งนั้น เพราะประเทศทำงบประมาณแบบขาดดุลมาตลอด
“ผมอยากบอก นักการเมืองและประชาชนว่า เงินคงคลังเป็นเงินที่มาจากกู้ทั้งนั้น แค่ปีงบประมาณ 2563 กู้ชดเชยเพื่อขาดดุลนำเงินเข้าคลังกว่า 4 แสนล้านบาท ยังไม่พอ ต้องขอกู้เพิ่มอีก 2 แสนล้านบาท ต้องมาเติมเงินคงคลัง ไม่นั้นเงินคงคลังหมดเงินคงคลังไม่มี”นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมาย ยังกล่าวว่า สงสารนายกฯ ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ และเชื่อข้าราชการว่าคลังถังไม่แตก เพราะข้าราชการต้องการเอาใจการเมือง เลยให้ข้อมูลที่ไม่ครบ พวกนี้ไม่เคยเห็นโลงศพ ตอนนี้คนฐานรากมีอำนาจซื้อที่ไหนกัน ที่ว่าเงินคงคลังแข็งแกร่งเพราะงบประมาณยังจ่ายไม่ค่อยออก งบเงินกู้ก็ไม่ค่อยได้เบิก คอยดูอีก 6 เดือน ก็คงเห็นภาระหนี้ประเทศจะพุ่ง และเงินคงคลังก็จะมีแต่แฟบลง
ด้านกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็น ข้อเสนอขึ้นอัตราภาษีแวต 9% ของนายสมหมาย ว่า ฐานะทางการคลังของรัฐบาลในปัจจุบันยังมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบและเยียวยาแก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยระดับเงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป อีกทั้ง ภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
สำหรับภาษีแวตซึ่งเป็นภาษีฐานการบริโภคที่มีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การปรับขึ้นภาษีแวตย่อมส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลของการปรับขึ้นอัตราภาษีแวตทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการลดอำนาจการซื้อของประชาชน ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมประชาชนในภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งการปรับขึ้นอัตราภาษีแวตจาก 7% เป็น 9% จะทำให้ GDP ลดลงอย่างน้อย -0.6% ต่อปีจากกรณีฐาน
อีกทั้ง ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปีจากกรณีฐาน การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวยิ่งหดตัวมากขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นภาษีแวตเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนจึงต้องพิจารณารอบด้านและดูช่วงเวลาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีแวตที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนและกระตุ้นให้มีการบริโภคของประชาชนอย่างต่อเนื่อง