รีเซต

มูลนิธิเชฟแคร์สเดินหน้า "สานฝันปั้นเชฟ" ให้โอกาส-อาชีพ คืนคนดีสู่สังคม

มูลนิธิเชฟแคร์สเดินหน้า "สานฝันปั้นเชฟ"  ให้โอกาส-อาชีพ คืนคนดีสู่สังคม
TNN ช่อง16
17 กุมภาพันธ์ 2564 ( 02:01 )
147

มูลนิธิเชฟแคร์ส เดินหน้าตามเจตนารมณ์สร้างคนคุณภาพกลับสู่สังคม ผ่านโครงการสานฝันปั้นเชฟ ให้ "โอกาส" เด็กจากสถานพินิจและเด็กด้อยโอกาส สู่การเป็นเชฟมืออาชีพ โดยนางมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ นายณัฏฐพล ภวไพบูลย์ (เชฟนิค) และนายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) สมาชิกมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมกันต้อนรับเยาวชนทั้ง 12 คนในวันเปิดเทอม ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 


นางมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส กล่าวว่า Chef Cares ประสบความสำเร็จจากหัวใจจิตอาสาของเชฟระดับท้อปเชฟทั้ง 73 ท่าน จึงต้องการสานต่อการช่วยเหลือสังคมผ่านมูลนิธิเชฟแคร์ส โดยคงแนวคิดทางด้านอาหาร ในรูปแบบของการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่มีความชื่นชอบการทำอาหารเป็นพิเศษ (passion) ให้ได้เข้ามาเรียนรู้จากเชฟระดับชั้นนำของเมืองไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และ Role Model สานฝันการเป็นเชฟในอนาคตให้เด็กๆ  "เป็นความตั้งใจที่จะให้โอกาสกับเด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้ได้มีอาชีพที่ดี โครงการนี้จะให้ทั้งความรู้ และการบ่มเพาะแนวความคิดด้านบวก ให้เขากลับตัวได้ และมีงานทำ น้องๆจะได้รับแรงบันดาลใจจากท็อปเชฟที่เขาได้ใกล้ชิด และเขาจะเป็นคนคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ในที่สุด” นางมาริษากล่าว


ด้านนายณัฏฐพล ภวไพบูลย์ หรือ เชฟนิค สมาชิกมูลนิธิเชฟแคร์ส และเจ้าของร้านอาหารวังหิ่งห้อยกล่าวว่าในฐานะเจ้าของร้านอาหารที่จะเข้ามาสอนน้องๆด้วย สิ่งสำคัญที่ตั้งใจจะถ่ายทอด นอกเหนือจากเทคนิคพิเศษในการทำอาหารแล้ว คือการส่งเสริมให้พวกเขามีทัศนคติเป็นบวก (Positive thinking) 


"ผมตั้งใจจะเปิดโอกาสให้เด็กๆได้พิสูจน์ตนเองอีกครั้ง เชื่อว่าภายหลังการบ่มเพาะผ่านโครงการสานฝันปั้นเชฟ น้องๆเหล่านี้ที่มีประสบการณ์อย่างหนักในชีวิต จะมีความคิดเชิงบวกต่อตนเองและสังคม" เชฟนิคกล่าว 


นางสาวดวงพร อุกฤษณ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน กล่าวว่า “ยังไม่เคยเห็นโครงการทุนการศึกษาใดที่มีความสมบูรณ์แบบเท่ากับโครงการนี้ ที่จะให้ทั้งความรู้ และความเข้าใจต่อเยาวชน ที่ต้องการ "โอกาส" ในการกลับคืนสู่สังคม ขอขอบคุณมูลนิธิเชฟแคร์สเป็นอย่างมากที่หยิบยื่นโอกาสที่มีค่ายิ่งนี้ให้น้องๆอย่างเต็มที่ หากน้องคนไหนมีความสามารถ มีความประพฤติดี ก็มีโอกาสที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้ปล่อยตัวออกไปใช้ชีวิตในสังคมก่อนครบกำหนดโทษได้”


ทั้งนี้ โครงการสานฝันปั้นเชฟ เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิเชฟแคร์ส เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้วิธีการประกอบอาหารทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนได้ฝึกงานจริงกับเชฟมืออาชีพที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของประเทศ ควบคู่การพัฒนาศักยภาพของตนเองภายใต้การดูแลของนักจิตวิทยา รวมถึงมีโอกาสได้ประกอบอาชีพเชฟตามความฝันของตน


หลักสูตรดังกล่าว มีระยะเวลาศึกษา 5 เดือน แบ่งเป็นการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีกับปฏิบัติ เป็นเวลา 2 เดือน และฝึกประสบการณ์วิชาชีพยังร้านอาหารของเชฟระดับแถวหน้าของเมืองไทย (Top Chef ) อีก 3 เดือน 

 

สำหรับเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้เป็นน้องๆ จากสถานพินิจ 6 คนและเป็นเด็กด้อยโอกาสจากพื้นที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา ที่ผ่านการคัดเลือกจากศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารเพื่อการพัฒนา ( CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อีก 6 คน รวมเป็น 12 คน ทุกคนล้วนมีความชื่นชอบในการทำอาหาร และใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟมืออาชีพ  


โครงการ “สานฝันปั้นเชฟ” มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้โอกาสเยาวชนที่เคยหลงผิดได้กลับตัว มีอาชีพสุจริตและสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ โดยมูลนิธิเชฟแคร์สสนับสนุนทุนการศึกษา และใช้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร และหากเยาวชนรายใดมีความสามารถและมีความประพฤติดีก็จะได้รับโอกาสในการจ้างงานต่อไป


อนึ่ง โครงการเชฟแคร์ส เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อส่งมอบความห่วงใยแทนคำขอบคุณให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 ผ่านเมนูอาหารกลางวัน ที่รังสรรค์โดยเชฟยอดฝีมือระดับแถวหน้าของเมืองไทยหมุนเวียนกันเสิร์ฟเมนูรสชาติดีมีคุณค่าทางโภชนาการ และได้ต่อยอดสู่การจัดตั้ง "มูลนิธิเชฟแคร์ส์" ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมศาสตร์แห่งอาหารไทยที่ปรุงด้วยความพิถีพิถัน ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลก และจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่รักการปรุงอาหารได้เรียนรู้และเติบโตเป็นเชฟระดับแนวหน้าเช่นเดียวกับเชฟแคร์ส์ต้นแบบ ด้วยความหลากหลาย ความสร้างสรรค์และงดงาม ที่สุดจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะสนับสนุนวิถีอาหารไทยให้ทั่วโลกได้รู้จักในฐานะศูนย์รวมศาสตร์ของอาหารที่ดีที่สุดของเอเซีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง