รีเซต

จะเกิดอะไรขึ้นหากรัสเซียบุกยูเครน

จะเกิดอะไรขึ้นหากรัสเซียบุกยูเครน
ข่าวสด
11 ธันวาคม 2564 ( 13:54 )
68

จริงหรือที่กองทัพรัสเซียกำลังเตรียมทำสงครามบุกยูเครน นี่คือเรื่องที่กำลังสร้างความหวั่นวิตกให้บรรดาผู้นำโลกตะวันตก และยูเครน

 

ความวิตกกังวลครั้งล่าสุดนี้มีขึ้น หลังจากเมื่อ 7 ปีก่อน ได้เกิดวิกฤตการณ์ไครเมีย ซึ่งรัสเซียได้ยึดและผนวกดินแดนในคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นของตนเอง อีกทั้งยังสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนให้รบกับรัฐบาลยูเครนเป็นพื้นที่วงกว้างทางภาคตะวันออกของประเทศ

 

เกิดอะไรขึ้น

ยูเครนมีพรมแดนติดกับทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และรัสเซีย แต่ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตแห่งนี้ มีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับรัสเซียทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งภาษารัสเซียยังเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวยูเครน

 

ที่ผ่านมา รัสเซียได้แสดงจุดยืนต่อต้านการที่ยูเครนจะหันไปเข้าร่วมกับสถาบันต่าง ๆ ของอียู และมีข้อเรียกร้องสำคัญว่า ยูเครนต้องไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) หรือประจำการอาวุธร้ายแรงของชาติพันธมิตรทางการทหารในประเทศ

 

ตอนที่ชาวยูเครนขับประธานาธิบดีที่สนับสนุนรัสเซียลงจากอำนาจในปี 2014 รัสเซียได้เข้ายึดครองดินแดนไครเมียทางภาคใต้ของยูเครน อีกทั้งให้การหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ยึดพื้นที่เป็นวงกว้างใน 2 ภูมิภาคทางภาคตะวันออกที่เรียกว่า ดอนบัส (Donbas)

มีโอกาสแค่ไหนที่รัสเซียจะบุกยูเครน

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังยังคงดำเนินมามาจนถึงปัจจุบัน ยูเครนระบุว่า รัสเซียได้ส่งรถถัง ปืนใหญ่ และพลแม่นปืนเข้าไปประจำการในแนวหน้าของพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏ

 

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือการที่รัสเซียได้เสริมกำลังพลบริเวณชายแดนรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกเชื่อว่าอาจมีทหารมากถึง 100,000 นาย

 

ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าจะเกิดภัยคุกคามซึ่งหน้า หรือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้ตัดสินใจแล้วที่จะส่งทหารบุกยูเครน

 

โฆษกรัฐบาลทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ตื่นตระหนก ขณะที่นายเซอร์เก เรียบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เตือนว่า ความตึงเครียดอาจนำไปสู่สถานการณ์แบบเดียวกับวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตเกือบเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานข่าวกรองของชาติตะวันตก รวมถึงของยูเครนต่างคิดว่า การโจมตีหรือการรุกรานอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2022

นายโอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมของยูเครน ระบุว่า ช่วงเวลาที่น่าเป็นไปได้มากที่สุดที่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงถึงขีดสุดคือช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้

 

ขณะที่หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียอาจเสริมกำลังทหารถึง 175,000 นายภายในเดือน ม.ค.นี้ โดยนายวิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) เชื่อว่า ประธานาธิบดีปูติน "จะส่งทหารรัสเซีย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปประจำการในจุดที่สามารถบุกโจมตีได้เป็นวงกว้าง"

 

แต่นี่อาจเป็นเพียงการแสดงท่าทีข่มขวัญ เพื่อที่รัสเซียจะได้คำรับประกันที่ตนเองต้องการจากนาโต

 

เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อเดือน เม.ย.ปีนี้ โดยในตอนนั้นรัสเซียอ้างว่า การเคลื่อนย้ายกำลังพลในขนาดที่เล็กกว่าครั้งล่าสุดนี้ เป็นเพียงการซ้อมรบ จากนั้นก็ถอนกำลังทหารออกไป (แม้ว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญจะระบุว่าเป็นเพียงการถอนกำลังออกไปบางส่วน)

 

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้พูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอลกับประธานาธิบดีปูติน เพื่อลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ทว่ายังไม่มีวี่แววว่าจะเป็นเช่นนั้น

Reuters
ประธานาธิบดีไบเดน พูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอลกับประธานาธิบดีปูติน หวังลดความตึงเครียดเรื่องยูเครน

หากเกิดสงครามจริงจะเป็นอย่างไร

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ซึ่งรวมถึงบีบีซีว่า หากรัสเซีย ตัดสินใจจะรุกรานยูเครน การสู้รบก็อาจแผ่ขยายเข้าไปในยุโรปได้

เขากล่าวว่า หากรัสเซียเริ่มกระทำการใด ๆ ก็จะนำไปสู่การตอบโต้จากชาติสมาชิกนาโต "การคิดว่าสงครามจะจำกัดอยู่ในประเทศเดียว คงเป็นเรื่องที่โง่เขลา"

พลเรือเอก เซอร์ โทนี แรดดากิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดของการรุกรานเต็มรูปแบบคงจะรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรอง ระบุต่อว่า หากรัสเซียเปิดสงครามยูเครนจริงก็จะทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิต หรืออพยพหนีภัยการสู้รบ

โดยการสู้รบที่ปะทุขึ้นทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อปี 2014 ได้ทำให้พลเรือนต้องเสียชีวิตไปแล้ว 14,000 คน และพลัดถิ่นฐานอีกราว 1.4 ล้านคน

นอกจากนี้ รัสเซียยังอาจตอบโต้ชาติสมาชิกนาโตอื่น ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ และการทำสงครามผสมผสาน หรือแม้แต่การโจมตีทางกายภาพ และความขัดแย้งนี้ก็จะแผ่ขยายเป็นวงกว้าง

รัสเซียว่าอย่างไร

ในเบื้องต้น รัสเซียพยายามบอกปัดว่าภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เผยให้เห็นการเสริมกำลังทหารในไครเมีย และจุดที่อยู่ไม่ห่างจากภาคตะวันออกของวยูเครน เป็นเรื่องตื่นตูมเกินกว่าเหตุ ทว่าเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ ผู้ช่วยประธานาธิบดีคนหนึ่งได้ยืนกรานว่า "เรามีสิทธิที่จะเคลื่อนย้ายกำลังพลในเขตแดนของเรา"

พล.อ.วาเลอรี เกราซีมอฟ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมรัสเซีย ระบุว่า นาโตมุ่งความสนใจไปที่การเคลื่อนย้ายกำลังพลมากเกินไป และ "ข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อที่ว่า รัสเซียอาจยกพลบุกยูเครนในเร็ว ๆ นี้เป็นเรื่องโกหก"

ขณะเดียวกัน รัฐบาลรัสเซียได้ตอบโต้กลับด้วยการกล่าวหาว่ายูเครนกำลังสะสมกำลังทหารครึ่งหนึ่งของกองทัพ คือราว 125,000 นายไว้ที่บริเวณภาคตะวันออกของประเทศ พร้อมระบุว่า รัฐบาลยูเครนกำลังวางแผนโจมตีพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุน

BBC

ยูเครนชี้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพียง "โฆษณาชวนเชื่อที่เหลวไหล" เพื่อปกปิดแผนการของรัสเซียเอง

นอกจากนี้ รัสเซียยังกล่าวหาชาติสมาชิกนาโตว่าป้อนอาวุธให้แก่ยูเครน

ข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจถูกรัสเซียนำไปใช้ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหาร

นายวลาดิเมียร์ ดซาบารอฟ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเป็นอันดับสองในคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาสหพันธ์รัสเซีย กล่าวเมื่อต้นเดือน ธ.ค.นี้ว่า ปัจจุบันมีชาวยูเครนในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏราว 500,000 คนที่ถือหนังสือเดินทางรัสเซีย และหากหัวหน้ากลุ่มกบฏได้ขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย "แน่นอนว่า เราคงไม่อาจทอดทิ้งเพื่อนร่วมชาติของเราได้"

รัสเซียต้องการอะไร

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูติน เคยเตือนชาติตะวันตกไม่ให้ "ล้ำเส้นแดง" ของรัสเซียในเรื่องยูเครน

แล้ว "เส้นแดง" ที่ว่านี้คืออะไร

หนึ่งในนั้นคือ การหยุดยั้งไม่ให้นาโตแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปทางตะวันออกมากกว่านี้ แล้วส่งอาวุธเข้าไปประจำการในประเทศเพื่อนบ้านรัสเซีย ในลักษณะที่จะเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย

ประธานาธิบดีปูตินระบุว่า หากยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ก็จะมีกองทหาร ฐานทัพ และอาวุธร้ายแรง ตามมา

เดิมทีรัสเซียมีความกังวลอยู่แล้ว ต่อกรณีที่ยูเครนใช้โดรนของตุรกีในการสู้รบกับกลุ่มกบฏที่รัสเซียสนับสนุนทางภาคตะวันออก รวมถึงการที่กองทัพชาติตะวันตกซ้อมรบในทะเลดำ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียได้เผยแพร่ถ้อยแถลงอันยาวเหยียดบนเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดี โดยระบุว่า รัสเซียและยูเครนมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน แล้วเรียกคนรัสเซียและคนยูเครนว่าเป็น "คนชาติเดียวกัน" พร้อมกล่าวหาว่า ผู้นำชุดปัจจุบันของยูเครนกำลังดำเนิน "โครงการต่อต้านรัสเซีย"

นายปูตินระบุว่า สำหรับผู้ที่พยายามทำให้ยูเครนต่อต้านรัสเซีย "การทำเช่นนี้จะทำลายประเทศชาติของพวกเขาเอง"

Getty Images
การซ้อมรบของรัสเซียในไครเมีย เมื่อเดือน มี.ค.2021 ได้สร้างความวิตกกังวลให้ชาติตะวันตก

นาโตจะช่วยยูเครนได้อย่างไรบ้าง

สมาชิกชาติตะวันตกของนาโตต่างแสดงการปกป้องยูเครน และนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ก็ระบุชัดเจนว่า การสนับสนุนทางการทหารที่ให้แก่ยูเครนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ชอบธรรม

สหราชอาณาจักรมีแผนจะช่วยยูเครนสร้างฐานทัพเรือ 2 แห่งที่เมืองโอชาคีฟ ริมฝั่งทะเลดำ และเมืองเบอร์เดียนสค์ ที่ทะเลอาซอฟ ขณะที่สหรัฐฯ ได้ส่งจรวดต่อต้านรถถัง แจฟเวอลิน และเรือตรวจการชายฝั่ง 2 ลำให้แก่ยูเครน

นายสโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่า "มันขึ้นอยู่กับยูเครน และ 30 ชาติพันธมิตรนาโต ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเมื่อใดยูเครนจะพร้อมเข้าร่วมเป็นสมาชิก" พร้อมชี้ว่า รัสเซีย "ไม่มีอำนาจยับยั้ง หรือสิทธิที่จะแทรกแซงในกระบวนการนี้"

ชาติตะวันตกจะช่วยยูเครนได้แค่ไหน

สหรัฐฯ ให้คำมั่นชัดเจนว่าจะช่วยยูเครนปกป้องอธิปไตยของตนเอง โดยประธานาธิบดีไบเดน ระบุว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ "อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน" หากยูเครนถูกโจมตี

อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ เน้นย้ำว่าจะไม่มีการส่งทหารสหรัฐฯ ไปร่วมรบด้วย

ด้านยูเครนระบุว่า เตรียมตัวที่จะปกป้องตนเองตามลำพัง โดยนายดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน กล่าวว่า "เราจะสู้ในสงครามนี้ด้วยตัวเอง"

EPA
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ลงพื้นที่แนวหน้าการสู้รบในดินแดนใต้การยึดครองของกลุ่มกบฏ ทางภาคตะวันออกที่เรียกว่า ดอนบัส เมื่อ 6 ธ.ค.

แม้ถึงว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมรับ "เส้นแดง" ของรัสเซียในเรื่องที่ยูเครนจะเข้าร่วมกับองค์การนาโต หรือเรื่องอื่น ๆ แต่มาตรการทางเศรษฐกิจและมาตรการอื่น ๆ ที่รุนแรงของสหรัฐฯ จะช่วยรัฐบาลยูเครนได้แค่ไหน

อาวุธร้ายแรงที่สุดของชาติตะวันตกดูเหมือนจะเป็นการคว่ำบาตร และการสนับสนุนกองทัพยูเครน

นางวิคกี ฟอร์ด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ระบุว่า รัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาเพิ่มการสนับสนุนด้านกลาโหมแก่ยูเครน

ในส่วนของมาตรการทางเศรษฐกิจนั้น อาวุธสำคัญที่สุดอาจเป็นการขู่ตัดระบบการธนาคารรัสเซียออกจากระบบจ่ายเงินระหว่างประเทศที่เรียกว่า Swift แต่นี่ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ประเทศลัตเวีย ระบุว่า นี่จะเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลรัสเซีย

ส่วนมาตรการอีกอย่างคือการขัดขวางการเปิดท่อส่งก๊าซ "นอร์ด สตรีม 2" (Nord Stream 2) ของรัสเซียในเยอรมนี ซึ่งการจะทำได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนีเสียก่อน

นอกจากนี้ ยังอาจมีมาตรการที่มุ่งเป้าต่อกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund หรือ RDIF) หรือการจำกัดไม่ให้ธนาคารต่าง ๆ แลกเปลี่ยนเงินรูเบิลรัสเซียไปเป็นเงินตราต่างประเทศอื่น ๆ

..............

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง