รีเซต

เกษตรกรบุรีรัมย์ 222 คน ลุ้นศาลอุทธรณ์ ตัดสินคดี บ.ปุ๋ย ฟ้องชาวบ้าน หลังร่วม อบจ. หลอกเซ็นชื่อ

เกษตรกรบุรีรัมย์ 222 คน ลุ้นศาลอุทธรณ์ ตัดสินคดี บ.ปุ๋ย ฟ้องชาวบ้าน หลังร่วม อบจ. หลอกเซ็นชื่อ
ข่าวสด
18 มีนาคม 2564 ( 14:48 )
79
เกษตรกรบุรีรัมย์ 222 คน ลุ้นศาลอุทธรณ์ ตัดสินคดี บ.ปุ๋ย ฟ้องชาวบ้าน หลังร่วม อบจ. หลอกเซ็นชื่อ

เกษตรกรบุรีรัมย์ 222 คน ลุ้นศาลอุทธรณ์ ตัดสินคดี บ.ปุ๋ยฟ้อง หลังร่วมกับ จนท.อบจ.หลอกเซ็นชื่อรับของฟรี ถูกเรียกค่าเสียหาย 42 ล้านบาท เศร้าจำเลยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย

 

 

กรณีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จาก 5 อำเภอ ใน จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ.หนองหงส์ อ.ปะคำ อ.โนนสุวรรณ อ.นางรอง และ อ.หนองกี่ 222 คน ถูกบริษัทจำหน่ายปุ๋ย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้ชดใช้ค่าปุ๋ยที่มีการจัดซื้อในโครงการส่งเสริมอาชีพคนบุรีรัมย์ ปี 2558 รวมเป็นเงินกว่า 42 ล้านบาท โดยมีจำเลยในคดีดังกล่าว 2 รายที่เสียชีวิตไปแล้ว

 

โดย ศาลชั้นต้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง 222 คนไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง เพราะที่ผ่านมาจำเลยไม่เคยมีการเจรจาซื้อขายปุ๋ยกับโจทก์ และไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทย์กับจำเลย ส่วนที่มีลายมือชื่อของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเป็นการเซ็นตามที่หน่วยงานราชการระบุให้เซ็นเพื่อแนบเรื่องเสนอขอรับเงินอุดหนุนในโครงการดังกล่าวเท่านั้น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 222 คน

 

อย่างไรก็ตามหลังมีการยื่นอุทธรณ์ ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 09.00 น. วันพรุ่งนี้(19 มี.ค.64) ศาลจังหวัดนางรอง นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หลังเลื่อนอ่านคำสั่งมาแล้ว 3 ครั้ง

 

โดย นางหนูแดง ทองใบ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านซับสมบูรณ์ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า ในวันพรุ่งนี้เรามั่นใจว่าจะชนะคดี 80% แต่ต้องรอลุ้นดูว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไร

 

ทั้งนี้สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก โครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)บุรีรัมย์ โดยให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตแจกปุ๋ยฟรีแก่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555-2558 เป็นโครงการให้เปล่าไม่มีค่าใช้จ่าย

 

โดยชาวบ้านทำโครงการเพื่อขอรับการอุดหนุน แต่เกิดปัญหาเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสของโครงการฯ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ไม่ลงอนุมัติงบประมาณให้ อบจ. บุรีรัมย์ และได้สั่งให้ อบจ.ทบทวนโครงการ

 

ระหว่างนั้นชาวบ้านได้รับการประสานให้ทำสัญญาสั่งซื้อปุ๋ยจากบริษัท โดยมีเจ้าหน้าที่บริษัทนำปุ๋ยมาส่งให้เกษตรกร พร้อมให้ประธานกรรมการ และชาวบ้านลงชื่อในเอกสารใบสั่งซื้อและใบรับปุ๋ย โดยแจ้งว่าจะนำไปส่งต่อให้ อบจ.เพื่อรับเงินค่าปุ๋ยตามจำนวนที่ส่ง โดยไม่ระบุว่าถูกสตง.ตรวจสอบ มีปัญหางบฯ ต่อมาบริษัทเรียกเก็บค่าปุ๋ยกับชาวบ้าน โดยอ้างเอกสารการสั่งซื้อและรับปุ๋ยที่ชาวบ้านลงชื่อไว้ ทำให้ชาวบ้าน 222 ราย ถูกบริษัทปุ๋ยฟ้องในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย ในปี 2559

 

ชาวบ้าน ระบุว่า บริษัทขายปุ๋ยดังกล่าวได้หลอกให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ลงชื่อในใบสั่งซื้อและรับสินค้าเพื่อรับปุ๋ยอินทรีย์ฟรีในโครงการส่งเสริมอาชีพคนบุรีรัมย์ ปี 2558 โดยอ้างว่าโครงการดังกล่าวผ่านการอนุมัติเงินงบประมาณจากทางจังหวัดบุรีรัมย์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์แล้ว ทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหลงเชื่อ และเข้าใจว่าเป็นโครงการต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2558 ที่เคยได้รับแจกจ่ายปุ๋ยอินทรีย์ฟรีมาแล้ว 3 ปีไม่เคยเกิดปัญหาอะไร

 

ทำให้หลงเชื่อยอมเซ็นรับปุ๋ยกับทางบริษัทโดยที่ไม่ได้เอะใจว่าโครงการดังกล่าวยังไม่ผ่านการอนุมัติงบประมาณจากทาง อบจ. ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ สั่งชะลอโครงการดังกล่าว เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่ทางบริษัท หรือเจ้าหน้าที่บางคนที่ทราบว่าโครงการดังกล่าวถูกชะลอแต่ไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้เกษตรกรทราบ ทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรถูกฟ้องเรียกเก็บค่าปุ๋ย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง