รีเซต

สั่งเฝ้าระวัง 10 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่

สั่งเฝ้าระวัง 10 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่
มติชน
27 พฤษภาคม 2565 ( 17:57 )
116
สั่งเฝ้าระวัง 10 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่

ข่าววันนี้ 27 พฤษภาคม ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน พร้อมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะ 10 จุดเสี่ยงในเขตเมือง และนำเอาข้อมูลปัญหาจากเหตุอุทกภัยช่วงวันที่ 20-22 พฤษภาคมที่ผ่านมา มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในครั้งต่อไป

 

 

โดยจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและเร่งแก้ไขปัญหา ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น ตรงข้ามเซ็นทรัลพลาซาแอร์พอร์ต จุดที่ 2 ถนนโชตนา บริเวณหน้าสนามกอล์ฟลานนา จุดที่ 3 พื้นที่บริเวณถนนห้วยแก้ว และพื้นที่บริเวณช่างเคี่ยน จุดที่ 4 บริเวณหลังโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จุดที่ 5 สี่แยกตลาดต้นพะยอม จุดที่ 6 กาดก้อม ชุมชนศรีปิงเมือง จุดที่ 7 สี่แยกข่วงสิงห์ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จุดที่ 8 ประตูน้ำดอนชัย พื้นที่เทศบาลตำบลป่าแดด จุดที่ 9 สี่แยกบิ๊กซีแม่เหียะ-โรงเรียนสารสาสน์ล้านนา-ร้องเรือนคำ และจุดที่ 10 ชุมชนหมู่บ้านดาราวดี ทั้งนี้ได้มอบหมายภารกิจและกำหนดหน่วยงานหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ทั้ง 10 จุดเสี่ยง โดยทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ทั้งการขุดลอกท่อที่อุดตัน การทะลวงท่อ ปรับปรุงช่องทางน้ำ การเตรียมความพร้อมสรรพกำลัง ทั้งอุปกรณ์และบุคลากร โดยเฉพาะเร่งดำเนินการสำรวจและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน


 

สำหรับคาดหมายลักษณะอากาศ 7 วันข้างหน้า (28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2565) พบว่า ห้วงวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2565 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมพื้นที่มีกำลังปานกลาง ประกอบกับร่องมรสุมพัดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้มีฝนประมาณ 30-40% ของพื้นที่ ส่วนมากในระหว่างช่วงบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ส่วนห้วงวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมยังคงมีกำลังปานกลาง และร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งได้

 

นายประจญ กล่าวว่าขอเน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น มีแผนเตรียมรับสถานการณ์ รวมทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ระบบการแจ้งเตือนประชาชน และพื้นที่อพยพผู้ประสบภัย พร้อมขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อป้องกันสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในระยะใกล้นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง