กกต.เผยแพร่คู่มือประชาชนสำหรับการเลือกตั้งอบต.เพื่อช่วยส่งเสริมความรู้
วันนี้ (9ก.ย.64) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คู่มือประชาชนสำหรับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งมีจำนวน 28 หน้า ผ่านทางเพจสำนักงานกกต. มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนและเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งนายกฯอบต.สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) โดยมีเนื้อหาสาระคัญ ระบุว่า
อบต.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีขนาดเล็กและอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท ซึ่งจัดตั้งโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลและจัดทำบริการสาธารณะแก่ประชาชนในหมู่บ้านตำบล มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยข้อมูลปัจจุบัน มี อบต.จำนวน 5,300 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดระบบบริการสาธารณะต่างๆ ในเขตพื้นที่ตำบล เช่น การสาธารณูปโภค สาธารณสุข การคุ้มครองและบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม พัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน และผู้พิการ เป็นต้น
สำหรับการได้มาซึ่งนายก อบต.และ ส.อบต.มาจากการเลือกตั้ง โดยมีที่มา คือ นายก อบต. จะใช้เขตตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วน ส.อบต. ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน รวมกันแล้วมีราษฎรถึง 25 คนเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน โดย ทั้งนี้ นายก อบต. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ กรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ให้ถือเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง ส่วน ส.อบต. มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
ขณะที่หน้าที่และอำนาจนายก อบต.นั้น ต้องกำหนดนโยบายให้ไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบการบริหารราชการ อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบายแผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ ข้อบังคับของทางราชการ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีปลัด อบต.เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้าง อบต. รองนายก อบต. และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของ อบต.ให้เป็นไปตามนโยบายและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามกฎหมายบัญญัติหรือตามที่นายก อบต.มอบหมาย