ช่องทางติดต่อช่วยเหลือ "คนไทยในยูเครน" ตลอด 24 ชั่วโมง ในสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน"
27 กุมภาพันธ์ 2565 สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนล่าสุด ยังคงตึงเครียด โดยกองทัพยูเครนเคลื่อนเข้าไปในเมืองคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครนแล้ว ตอนนี้เกิดการต่อสู้กับกองกำลังยูเครนบนท้องถนน รวมถึงการโจมตีทางอากาศพุ่งเป้าไปที่หลายเมืองในยูเครน ไม่เพียงเท่านั้น กองทัพรัสเซียได้ปิดกั้นเส้นทางเข้าเมืองเคอร์สัน และเบอร์ดียันสค์ พร้อมยิงขีปนาวุธโจมตีโครงสร้างทางทหารของยูเครน
ส่วนที่กรุงเคียฟ มีรายงานว่า เกิดเสียงปืนดังต่อเนื่องในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุง พร้อมรายงานว่า ยานยนต์หุ้มเกราะของรัสเซีย และทหารรัสเซีย ได้เข้ามาบนท้องถนน อย่างไรก็ดี BBC ยังไม่ยืนยันรายงานดังกล่าว
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย ให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน ณ เมืองลวิฟ ที่โรงแรม Цісар หรือ Tsisar ที่อยู่ Horodotska St, 65, Lviv, Lviv Oblast, Ukraine, 79000 ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตคอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งศูนย์แห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราวของคนไทยในยูเครนที่จะเดินทางออกมาจากเมืองต่างๆ ที่มีเสี่ยงต่อความปลอดภัย และเป็นศูนย์ประสานงานกับฝ่ายยูเครนในการช่วยเหลือคนไทย
ทั้งนี้ เมืองลวิฟจะเป็นฐานในการรวบรวมคนไทยในยูเครนจากพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบิน (จากเมืองลวิฟหรือเข้าโปแลนด์) หรือเดินทางกลับที่อยู่อาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความปลอดภัยในยูเครน คนไทยติดต่อขอความช่วยเหลือเร่งด่วนได้ที่ +48-696-642-348 ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้ที่มีญาติพี่น้องทำงานอยู่ที่ประเทศยูเครนในขณะนี้ หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศยูเครน สามารถติดต่อสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้ทุกจังหวัด หรือสำนักงานแรงงาน หรือติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ หมายเลข +48-696-642-348 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่าน E-mail : thaiconsularwarsaw@thaiemb.pl
สถานการณ์ช่วยเหลือคนไทยในยูเครน ล่าสุด
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ขอเรียนรายงานการช่วยเหลือคนไทยในยูเครนในสถานการณ์ฉุกเฉิน/ภัยสงคราม (26 ก.พ. 2565 เวลา 23.00 น.) ดังนี้
ณ ขณะนี้ มีคนไทยเดินทางมาเข้าพักที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน เมืองลวิฟ รวม 47 คน และมีคนไทยอีก 43 คนที่อยู่ในระหว่างการเดินทางจากเมืองต่าง ๆ มายังเมืองลวิฟ
สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดตามสอบถามความเป็นอยู่กับกลุ่มคนไทยในเมืองต่าง ๆ ทราบว่า คนไทยทั้งหมดยังปลอดภัย ไม่มีใครได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บ โดยยังมีคนไทยอีกประมาณร้อย กว่าคนที่ยังต้องอยู่ในเมืองที่พำนักและไม่สามารถเดินทางออกมาได้เนื่องจากมีการประกาศปิดเมืองหรือสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย อาทิ เมืองมิกโคลาอีฟ (มีคนไทย 7 คน) เมืองคาร์คีฟซึ่งอยู่ติดชายแดนรัสเซีย (มีคนไทย 12 คน) เป็นต้น อย่างไรก็ดี คนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเคียฟ จากจำนวน 148 คน สามารถเดินทางออกมาได้แล้ว 102 คน (เข้าพักที่ศูนย์ปฏิบัติการแล้ว 43 คน) โดยมีคนไทยที่สมรสกับชาวยูเครนและบุตร ประมาณ 40 คนที่แสดงความประสงค์จะพำนักกับครอบครัวต่อไป (สามีไม่สามารถเดินทางออกมานอกยูเครนได้)
แผนการนำคนไทยออกจากยูเครน ณ ขณะนี้ ได้แก่
- วันอาทิตย์ที่ 27 ก.พ. 2565 นำคนไทยจากเมืองโอเดซา (Odessa) จำนวน 41 คน เดินทางไปยังจุดผ่านแดนยูเครน-โรมาเนียโดยรถบัสเช่า จากนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์จะช่วยรับช่วงต่อโดยนำกลุ่มคนไทยเดินทางโดยรถบัสเช่าไปยังกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย เพื่อเตรียมเดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินพาณิชย์ในวันที่ 1 และ 2 มี.ค. 2565
- วันอาทิตย์ที่ 27 ก.พ. 2565 นำคนไทย จำนวน 43 คนซึ่งเข้าพักที่ศูนย์ปฏิบัติฯ เมืองลวิฟเดินทางโดยรถบัสเช่ามายังกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ และในวันจันทร์ที่ 28 ก.พ. 2565 จัดรถบัสเช่าไปรับคนไทย ชุดที่ 2 จากศูนย์ปฏิบัติฯ เมืองลวิฟเพื่อมายังกรุงวอร์ซอ และรอการเดินทางกลับไทยโดยเครื่องบินพาณิชย์ (ประมาณวันที่ 1-4 มี.ค. 2565) ต่อไป
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ที่มีอาณาเขตดูแลประเทศยูเครนด้วย ได้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงทีหากมีเหตุจำเป็นและพร้อมปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ คือ ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำอพยพคนไทยจากเมืองลวิฟ (Lviv) ของยูเครนโดยตรง
ข้อมูล Royal Thai Embassy, Warsaw, Poland
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<