รีเซต

รฟม. ชี้แจงกรณีคืนพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินคืนให้ กทม. ส่อผิดสัญญา

รฟม. ชี้แจงกรณีคืนพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินคืนให้ กทม. ส่อผิดสัญญา
มติชน
18 พฤศจิกายน 2563 ( 16:48 )
105
รฟม. ชี้แจงกรณีคืนพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินคืนให้ กทม. ส่อผิดสัญญา

ตามที่ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีท่าพระ-บางแค นั้น ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการส่งคืนพื้นที่ให้ กทม. โดยในสัญญาระบุว่าการส่งมอบพื้นที่คืนจะต้องอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งถนนจรัญสนิทวงศ์ จากพระราม 7 – ท่าพระ และถนนเพชรเกษม ท่าพระ-หลักสอง ทั้งหมดเป็นถนนคอนกรีต แต่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและ ได้ไปตรวจสอบพื้นที่ด้วยตัวเอง พบว่าช่วงถนนจรัญสนิทวงศ์ พระราม 7 – ท่าพระ มีการปรับปรุงให้เป็นถนนคอนกรีตเหมือนเดิม แต่พื้นถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณสถานีจรัญฯ 13 ถึงสถานีท่าพระ และจากสถานีท่าพระไปถึงสถานีหลักสอง ในถนนเพชรเกษม กลับมีการเทยางแอสฟัลต์ แทนที่จะปรับปรุงให้เป็นคอนกรีตตามสภาพเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าถนนเพชรเกษมเดิมมีไฟอยู่เกาะกลางถนน แต่เมื่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จเหลือไฟเกาะกลางถนนอยู่แค่ช่วงสถานีท่าพระ -บางหว้า อีกทั้งบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์มีการปลูกต้นไม้คืนให้ แต่ไม่ใส่ดินใหม่ ทำให้ต้นไม้ตาย จึงมีการนำดินใหม่ มาลงเพื่อปลูกต้นไม้อีกครั้ง แต่นำดินเดิมที่ถูกขนออกมา ไปถมถนนเพชรเกษมแทน นั้น

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในส่วนของการคืนสภาพพื้นที่ถนนสาธารณะ ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาก่อสร้างเรื่องการคืนสภาพพื้นที่ และตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ รฟม. เข้าทำการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของกรุงเทพมหานคร โดยข้อเท็จจริงก่อนการก่อสร้างนั้น สภาพถนนเดิมเป็นถนนคอนกรีต สลับกับมีผิวแอสฟัลติกคอนกรีตบางช่วง ซึ่ง รฟม. ได้ประสานงานกับกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด

 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันผิวจราจรที่เป็นผิวแอสฟัลติกคอนกรีตนั้น รฟม. ได้คืนสภาพโดยทำการปรับปรุงแก้ไขชั้นทางใต้พื้นทางให้มีความมั่นคงแข็งแรงก่อนที่จะเทถนนคอนกรีตใหม่เพื่อให้กลับสู่ถนนคอนกรีตที่ดี แล้วจึงปูแอสฟัลติกคอนกรีตทับหน้าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานงานวิศวกรรมทาง ส่วนเรื่องการคืนสภาพงานไฟฟ้าส่องสว่าง รฟม. ได้ดำเนินการในพื้นที่ทางเท้าและเกาะกลางครบถ้วนและยังได้เพิ่มเติมแสงสว่างในบริเวณ จุดกลับรถและใต้สถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี และเรื่องการปลูกต้นไม้ทดแทนตามแนวเกาะกลางถนนจรัญสนิทวงศ์ รฟม. ได้ดำเนินการปรับปรุงดินในแนวเกาะกลาง โดยลงวัสดุดินที่มีสารอินทรีย์เหมาะสมสำหรับปลูกต้นไม้ ทั้งนี้ ได้มีการกำกับตรวจสอบโดยกรุงเทพมหานครในทุกขั้นตอน ซึ่งงานดังกล่าวข้างต้นนั้น รฟม. ได้ดำเนินการประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2562 ถึงเดือนตุลาคม 2563 โดยปัจจุบันแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการประสานส่งมอบคืนพื้นที่สาธารณะให้กับกรุงเทพมหานครต่อไป รายละเอียดปรากฏตามตามตารางและภาพตัวอย่างประกอบในหน้าถัดไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง